BCP-WHA ยื่นโซลาร์รูฟวันแรก-ห้างสรรพสินค้าโดดร่วมวง,บ้านอยู่อาศัยยังน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 23, 2013 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า จากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าหลังจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) วันแรก(23 ก.ย.-11 ต.ค.) ผู้ที่เสนอจำนวนรายมากที่สุดคือ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) เสนอติดตั้งบนหลังคาสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศประมาณ 100 แห่ง เฉลี่ยกำลังผลิตแห่งละ 11-15 กิโลวัตต์ ในขณะที่ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ผู้ให้บริการคลังสินค้ายื่นเสนอติดตั้งเป็นจำนวนเมกะวัตต์มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีห้างสรรพสินค้าทั้งเซ็นทรัล บิ๊กซี เดอะมอลล์ และโรงงานต่างเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

โครงการ Solar Pv Rooftop ทั้งอาคารบ้านเรือนและอาคารโรงงานจะเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟ 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภาคธุรกิจ 100 เมกะวัตต์ บ้านที่อยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ เปิดให้ยื่นได้ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ตามเขต 120 เมกะวัตต์ และ กฟน.100 จำนวน 80 เมกะวัตต์ โดยในวันนี้ที่ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)มีภาคธุรกิจยื่น 266 ราย และบ้านที่อยู่อาศัย 60 ราย ส่วนที่ กฟภ.ภาคธุรกิจยื่น 802 รายแบ่งเป็น ภาคกลาง 418 ราย ภาคใต้ 90 ราย ภาคเหนือ 120 รายภาคอีสาน 175 ราย แต่ในส่วนบ้านที่อยู่อาศัยไม่มีตัวเลขชัดเจนเพราะกระจายไปทั่วตามเขตที่รับยื่นข้อเสนอ

ทั้งนี้ กลุ่มอาคารธุรกิจหรือโรงงานในพื้นที่ของกฟน.เข้ายื่นแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 274 ราย ขณะที่กลุ่มภาคที่อยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่า 10 กิโลวัตต์ เข้ายื่น ณ ที่ทำการ กฟน.ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร มีเพียง 60 รายเท่านั้น หลังจากนี้ กกพ.จะเร่งทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้มีจำนวนผู้มายื่นแบบคำขอเพิ่มขึ้น

หากกลุ่มอาคารธุรกิจหรือโรงงานมีผู้มายื่นคำขอจนเกิดอัตราที่กำหนดไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ จะทำการเก็บรายชื่อผู้ยื่นแบบคำขอที่ในส่วนที่เกินไว้รอจนกว่าจะมีนโยบายเพิ่มเติม แต่ในส่วนของอัตรารับซื้อไฟฟ้า(Feed in Tariff) อาจมีการปรับเปลี่ยน

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลการคัดเลือกผู้ขายไฟฟ้าในระบบ Solar PV Rooftop จะใช้วิธีการคัดเลือกโดยเรียงลำดับตามคำขอที่ได้รับเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด ใครมาก่อนและมีความพร้อมจะได้รับสิทธิก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดระบบขั้นตอนการยื่นแบบคำขอเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม รวมถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวก รวดเร็วให้กับผู้ที่มายื่นแบบคำขอ จึงได้มอบหมายให้ กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้บริหารจัดการการรับแบบคำขอขายไฟฟ้าตามความเหมาะสมและจำเป็น จากนั้นการไฟฟ้าจะทำการเรียงคำขอแต่ละพื้นที่จนครบ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทุกราย

“ที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ. ได้ประสานความพร้อมในการเปิดจุดรับยื่นคำขอจำหน่ายไฟฟ้ากับทั้ง 2 การไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการออกประกาศคณะกรรมการกำกับกิจพลังงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยได้แยกสถานที่การยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าของกลุ่มอาคารธุรกิจหรือโรงงานในพื้นที่ของ กฟน.ให้มายื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า ณ ที่ทำการ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ เพลินจิต เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกต่อการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น" นายดิเรก กล่าว

และหลังจากวันที่ 14 ต.ค.56 เป็นต้นไป ทั้ง 2 การไฟฟ้าฯ จะทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก โดยหลังจากที่มีการประกาศผลการรับซื้อแล้ว ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการสามารถเริ่มดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของ กฟน. สามารถติดต่อขอรับแบบฟอร์มต่างๆ เช่น แบบแจ้งขอดัดแปลงอาคาร แบบคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม แบบแจ้งขอยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และแบบฟอร์มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ สำนักงาน กกพ. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น19 ฝ่ายใบอนุญาต ส่วนโครงการที่อยู่พื้นที่ของ กฟภ.สามารถติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้ที่ สำนักงาน กกพ. ประจำเขตทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ

กรณีต้องขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถยื่นแจ้งดัดแปลงอาคารได้ที่ สำนักงาน กกพ. หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขตทั้ง 13 เขต และเมื่อได้ใบรับแจ้งการดัดแปลงอาคารแล้วหรือเป็นอาคารที่เข้าข่ายไม่ต้องขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถเริ่มติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop ได้โดยจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ซึ่งเมื่อติดตั้งระบบแล้วเสร็จให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) และแบบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ได้ที่ สำนักงาน กกพ. หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 13 เขต หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต พค.2 แล้ว ให้แจ้งการไฟฟ้าฯ เพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งหากเป็นไปตามมาตรฐานที่การไฟฟ้าฯ กำหนดก็จะสามารถเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ทั้งนี้ต้องเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบภายในวันที่ 31 ธ.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ