บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า สหรัฐฯ ประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายด้านความเสียหายการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือ CVD (Countervailing Duty) กับสินค้ากุ้งแช่แข็งจาก 5 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์ โดยคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศมีมติว่า การอุดหนุนการส่งออกกุ้งแช่แข็งของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐ
ทางทีมกลยุทธ์ มองว่าเป็น"ลบ"กับอุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งไทย เพราะไทยจะไม่มีความได้เปรียบที่ได้ปลด CVD กลายเป็นว่าประเทศส่งออกกุ้งแช่แข็งหลักๆ ไม่มีใครติด CVD จากสหรัฐฯแล้ว
นับได้ว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยอยู่ในภาวะซบเซามาเป็นเวลานานแล้ว จากการระบาดของโรคตายด่วน (EMS) พิจารณาได้จาก CFRESH(not rated)ที่ทำธุรกิจกุ้งแช่แข็งเป็นหลัก มีการกระจายความเสี่ยงน้อย ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง 1H56 เป็นขาดทุนสุทธิ 148 ล้านบาท เทียบกับ y-o-y ที่กำไรสุทธิ 189 ล้านบาท คาดว่าเรื่องนี้จะส่งผลลบเพิ่มอีก
ด้าน บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์(TUF) ยังคงแนะ"ซื้อ"แม้ธุรกิจกุ้งใน 2Q56 ยังคงอ่อนแอ แม้ปริมาณขายกุ้งเพิ่มขึ้น ภายหลังการรวมงบ PPC เข้าไว้ในไตรมาสนี้ แต่ต้นทุนวัตถุดิบกุ้งที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่โรคระบาด EMS ในกุ้งแต่บริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นได้ เมื่อเทียบกับผู้นำเข้ารายอื่น แต่ในเดือน ส.ค. TUF ได้เริ่มนำเข้าวัตถุดิบกุ้งที่จำเป็นราว 30% จากประเทศอินเดียในระดับราคาที่ต่ำ
ราคาพื้นฐาน 70 บาท (P/E ปี 57 เป็น 16 เท่า) เพราะคาดว่ากำไรได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/56 และจะฟื้นตัวขึ้นนับจากนี้ โดยได้แรงหนุนจากการแก้ปัญหากุ้ง และราคาทูน่ามีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายและอัตรากำไรจะฟื้นตัวดีขึ้น, ผลขาดทุนของ USPN (ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ) จะลดลงจากการปรับโครงสร้างการผลิต, และ เงินบาทที่อ่อนค่าลงจะทำให้ยอดขายในรูปสกุลเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น