ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ลำพูน เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Photovoltaic (PV) โดยใช้เทคโนโลยี Thin Film ของญี่ปุ่น ดำเนินงานภายใต้ บริษัท ทีม โซลาร์ จำกัด (บริษัทย่อยของ IEC) โรงไฟฟ้าดังกล่าวเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 54 แล้วเสร็จในปี 55 โดยบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นผลให้โครงการดังกล่าวสามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ตั้งแต่ วันที่ 23 ก.ย.56
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ จ. ลำพูน (โครงการลำพูน 1 และ 2) เป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและภาครัฐให้การสนับสนุนโดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า โครงการจึงให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน โดยโครงการลำพูน 1 และโครงการลำพูน 2 ถือเป็นโครงการด้านพลังงานทดแทนแห่งแรกที่เปิดดำเนินการเป็นปฐมฤกษ์ของกลุ่มบริษัทฯ
นายภูษณ กล่าวว่า ในไตรมาส 4/56 บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ตาก (โครงการแม่ระมาด) กำลังการผลิต 5.25 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. เชียงใหม่ (โครงการแม่มาลัย 1 และโครงการแม่มาลัย 2) กำลังการผลิต 2 MW ดังนั้น ภายในปี 56 นี้ ไออีซี จะมีโซลาร์ฟาร์มกำลังการผลิตรวมเกือบ 10 MW สามารถสร้างรายได้รวม 180 ล้านบาทต่อปี
นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า IEC ยังได้ร่วมทุนกับ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ในบริษัท จีเดค จำกัด เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Municipality Solid Waste) กำลังผลิต 6.7 MW ที่ อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา โดยได้รับสัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นระยะเวลา 25 ปีในการกำจัดขยะชุมชนและแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยี Ash Melting Gasification จากฟินแลนด์อันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศแถบทวีปยุโรป คาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ราวไตรมาส 1/57
สำหรับแนวโน้มธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ นายภูษณ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ลำพูน ถือเป็น Flagship ของบริษัทฯ เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์พลิกฟื้น IEC ซึ่งในปี 57 รายได้กว่าร้อยละ 50 ของบริษัทฯ จะมาจากธุรกิจกลุ่มพลังงานทดแทน (Renewable Energy) สอดคล้องกับทิศทางของ IEC ที่จะพลิกจากการขาดทุนมาเป็นการทำกำไรเต็มตัวในปีหน้า โดยไตรมาสแรกของปี 2557 ไออีซีจะผลิตไฟฟ้าให้ กฟภ. ได้ไม่ต่ำกว่า 16 MW
"ไออีซี ยังต้องเดินหน้าแผนขยายธุรกิจเดิม และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งเราได้ประกาศไปแล้วว่าจะมีการเพิ่มทุนในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อจะระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือ RO เป็นจำนวน 1,074 ล้านบาท บวกกับการขายหุ้นแบบ Private Placement หรือ ขายให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจงอีกจำนวน 900 กว่าล้านบาท ซึ่งหากสามารถจำหน่ายได้หมด ก็จะสามารถผลักดันโครงการต่างๆในปัจจุบันและอนาคตได้สำเร็จตามแผนงานที่วางไว้" นายภูษณ กล่าว