โดย THAI จะใช้เงินลงทุนในปี 56 จำนวน 450 ล้านบาท และปี 57 อีกจำนวน 1,350 ล้านบาท โดยประมาณรายได้และผลการดำเนินงานของสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ในปี 56 ไว้ที่ 54 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,946 ล้านบาท ในปี 2560 จากจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 75
สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์จะรับโอนเส้นทางการบินในภูมิภาครวม 14 เส้นทางของ THAI ที่ทำการบริการบินอยู่ โดยมีผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 11,179 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR) เท่ากับร้อยละ 24.9 ที่อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 7.5 และมีจุดคุ้มทุนในระยะเวลา 2 ปี
ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำหลักเกณฑ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี ในหลักการเดียวกันกับ THAI โดยยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 ออกตามความใน พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548
นายชลิตรัตน์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับผู้บริหาร THAI ดูแลเรื่องวัฒนธรรมองค์กรและต้นทุนการบริหารงานแยกออกจากกันชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก รวมถึงการกำหนดตลาดของสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ให้ชัดเจน
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า สายการบินไทยสมายล์เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ต้นทุนการดำเนินงานก็ต้องให้เหมาะสม เพื่อให้สายการบินไทยสมายล์สามารถแข่งขับกับสายการบินต้นทุนต่ำอื่นได้
"ส่วนตัวผมเห็นว่าการตั้งสายการบินไทยสมายล์จะต้องกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดว่าต้นทุนต่อกิโลเมตร อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารต้องอยู่ที่เท่าไร ขณะเดียวกันการวางตำแหน่งแบ่งกลุ่มลูกค้าต้องไม่ดึงลูกค้ากันเอง คาดว่าหลังจาก ครม.อนุมัติ การบินไทยจะสามารถตั้งบริษัท ไทยสมายล์ ได้ทันที" นายชัชชาติ กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รูปแบบธุรกิจของบริษัท ไทยสมายล์ จะดำเนินธุรกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศระยะบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง คือ ประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน และอินเดีย โดยตำแหน่งทางการตลาดเป็นสายการบินภูมิภาค บริการมีคุณภาพ มาตรฐานดีเยี่ยมใกล้เคียง THAI และเชื่อมโยงต่อกัน ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะแบ่งเป็นลูกค้าที่เชื่อมต่อจาก THAI ในสัดส่วน 30% และลูกค้าจุดต่อจุดของไทยสมายล์ในสัดส่วน 70%