ขณะเดียวกัน THAI สามารถรับรู้รายได้และกำไรได้เต็มที่
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ THAI ลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ วงเงิน 1.8 พันล้านบาท เมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันสายการบินไทยสมายล์ฯ เป็นหน่วยธุรกิจของTHAI
ทั้งนี้ กรอบลงทุน 1.8 พันล้านบาท ที่จะให้กับสายการบินไทยสมายล์ ตามแผนจะมีเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 จำนวน 20 ลำในการดำเนินงานในช่วง 3 ปี (56-59)นี้ โดยเช่าจาก THAI ซึ่งปี 56 เช่าจำนวน 7 ลำ ปี 57 เช่าอีก 8 ลำและปี 59 อีก 5 ลำ
"การตั้งสายการบินไทยสมายล์ฯ ทำให้เราแสวงหาผลกำไรในพื้นที่ที่ยังไม่เคยแสวงหาผลกำไร หรือในอดีตที่ยังแสวงหาผลกำไรไม่ได้ อย่างเมืองจีนบางเมืองที่ไม่สามารถนำเครื่องบินลำใหญ่ไปบินก็ไม่คุ้มค่า ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำ กำไรก็สูงขึ้น" นายสรจักรกล่าว
ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างเส้นทางบินไปเมืองโคลัมโบ จากที่นำเครื่องบินแอร์บัส เอ330-300 ที่อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin factor)อยู่ที่ประมาณกว่า 60% แต่เมื่อมาเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ขนาด 160 ที่นั่ง ของสายการบินไทยสมายล์ฯ ทำให้ Cabin factor ปรับดีขึ้นมาที่ 75-80% และในการเปิดเส้นทางบินในจีน ได้แก่ เมืองฉงชิ่ง ก็ใช้สายการบินไทยสมายล์ฯบินแทน รวมทั้งมีแนวโน้มเปิดเส้นทางบินใหม่ๆในจีนที่ระยะเวลาทำการบินประมาณ 3 ชั่วโมง
"ที่สำคัญที่สุดเมื่อแยกออกไปมีการจัดการต้นทุนที่ไม่อิงการบินไทย ซึ่งได้ศึกษาที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่างเช่น Silk Air ที่มีอัตรากำไร 12-13%ได้ทุกปี" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าว
นอกจากนี้ ได้วางยุทธศาสตร์ให้สายการบินไมยสมายล์ฯ บินในเมืองรองภายในประเทศอาเซียน และในประเทศที่ไม่ใช่เมืองหลัก หากเป็นเมืองหลักก็จะใช้สายการบินไทยสมายล์จะบินเฉพาะเที่ยวบินที่มีความต้องการต่ำ ส่วนในเมืองรองจะเข้าไปเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี เป็นต้น เพื่อให้มีเครื่องมือเล่นได้และเพื่ออยู่รอดได้ในทางธุรกิจ ดังนั้นสายการบินไทยสมายล์จึงเป็น Light Premium ไม่ใช่ Low Cost Airline ที่ THAI มีสายการบินนกแอร์ (NOK) ดำเนินการอยู่แล้ว
THAI จะใช้สายการบินไทยสมายล์ฯ เจาะเข้าไปตลาดอาเซียนซึ่งคาดว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะมีการเดินทางมากขึ้น ซึ่งอาเซียนเป็นตลาดที่ THAI จำเป็นต้องเข้าไป โดยเน้นไปที่เมืองรองในอาเซียน ได้แก่ เมืองสุราบายา เมืองเมาะละแหม่ง เป็นต้น ส่วนเมืองหลักก็ยังใช้สายการบินไทยทำการบิน
นายสรจักร ยอมรับว่า ทุกวันนี้ THAI มีส่วนแบ่งกำไรส่วนใหญ่มาจากเส้นทาง Regionalเช่น จีน ญี่ปุ่น ส่วนเส้นทางบินไปเมืองต่างๆในยุโรป ก็ขาดทุน เสียมากกว่า เพราะบินระยะไกล ฉะนั้นสายการบินขนาดใหญ่ในปัจจุบันจึงประสบผลขาดทุน เช่น แอร์ฟรานซ์ ส่วนที่มีกำไรก็จะได้จากสายการบิน Low cost ได้แก่ ลุฟท์ฮันซ่า สิงคโปร์แอร์ไลน์
"สายการบินทั่วโลกเจ๊งกันหมดแล้ว ถึงต้องมาทำสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ยังพอมีกำไรได้ อย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ ก็มีกำไรจาก Silk Air จาก สายการบินTiger " นายสรจักรกล่าว
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4/56 บริษัทพยายามจะผลักดันผลประกอบการให้ได้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย