(เพิ่มเติม) RATCH คาดปี 56 กำไร 6 พันลบ.ใกล้เคียงกับกำไรปกติปีก่อน ใกล้สรุปโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 30, 2013 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)คาดว่าในปึ 56 จะมีกำไรราว 6 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับกำไรปกติในปี 55 ส่วนการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ ขณะที่การเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขนาด 4.6 พันเมกะวัตต์ในออสเตรเลียบริษัทตั้งเป้าหมายสรุปการเจรจากับพันธมิตรภายในสัปดาห์นี้

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปี 56 รายได้ใกล้เคียงกับปี 55 จากรายได้ของบริษัทฯย่อย และการเข้าไปลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้หากไม่นับรวมปี 55 ที่มีกำไรพิเศษเข้ามาจากการขายโรงไฟฟ้าที่ออสเตรเลีย ถือว่าปีนี้จะเป็นปีที่มีกำไรสูงพอสมควร โดยประมาณการไว้ที่ 6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนธุรกิจ โดยจะมีการสัมมนาผู้บริหารและกรรมการบริหารในวันที่ 11-12 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะนำผลเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะได้ข้อสรุปทั้งในด้านการพัฒนาโครงการใหม่และการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการ

"เราก็คงมุ่งเน้นกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก โดยจะมุ่งเน้นใน 7 ประเทศ ก็จะมี ไทย ลาว พม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบวกอีกหนึ่งประเทศคือ ออสเตรเลีย โดยแผนธุรกิจใหม่ตั้งเป้าปี 2020 จะมีกำลังการผลิตประมาณ 12,000 เมกกะวัตต์ และในปี 2016 จะมีกำลังการผลิตประมาณ 7,800 เมกกะวัตต์ จากสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตราว 6,300 เมกกะวัตต์"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

สำหรับการเข้าไปลงทุนทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)ในประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจราจากับพันธมิตร 1 ราย แบ่งเป็น 3 พื้นที่ น่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 120 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 โครงการ จะมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 40 เมกกะวัตต์ RATCH จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 40% คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 1-1 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มจะพัฒนาโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มเป็นอีก 6 พื้นที่ กำลังการผลิต 160 เมกกะวัตต์ โดยจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 60% หากรวมทั้งหมดจะมีจำนวน 9 โครงการ กำลังการผลิตรวม 200 เมกกะวัตต์ สาเหตุที่เข้าไปลงทุนทำโครงการครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยคิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ 13-14 บาทต่อหน่วย เป็นเวลานานถึง 20 ปี

ส่วนความคืบหน้าในการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าแมคควารี่ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 4,600 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการหาพันธมิตรในสัปดาห์นี้ เพื่อดำเนินการจดทะเบียนบริษัทร่วมทุน และยื่นข้อเสนอเข้าประมูลในวันที่ 20 ต.ค.นี้

"หากไม่ได้ขอสรุปในการหาพันธมิตรบริษัทจำเป็นต้องถอนตัวออกจากการประมูล เนื่องจากบอร์ดมีมติให้มีสัดส่วนในการถือหุ้น 1 ใน 3 ของโครงการทั้งหมด ประกอบกับโครงการเป็นคนโครงการขนาดใหญ่หากทำคนเดียวมองว่าคงไม่สามารถทำได้ ซึ่งต้องใช้เงินทุนราว 2 พันล้านเหรียญ จึงจำเป็นต้องเจรจาให้แล้วเสร็จ"นายพงษ์พดิษฐ กล่าว

ขณะที่แผนการลงทุนร่วมกับบมจ.บ้านปู ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนที่ประเทศอินโดนีเซีย อาจจะเป็นรูปแบบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ และการเสนอเข้าถือหุ้นร่วมกับกลุ่มกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ที่เป็นผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้า IPP รอบใหม่นั้น ขณะนี้กลุ่มกัลฟ์อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับทางการ และเมื่อเจรจาเสร็จสิ้นก็จะดำเนินการทำ EIA โดยใช้เวลาทำ 1-2 ปี ซึ่งบริษัทหวังว่าทางกลุ่มกัลฟ์จะมองหาพันธมิตรในประเทศบ้าง

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวต่อว่า บริษัทฯเตรียมความพร้อมรองรับมือพม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติช่วงสิ้นปีนี้ (ธ.ค.56-ม.ค.57) โดยวางมาตรการ 3 ด้าน คือ เลื่อนระยะเวลาการซ่อมเครื่องบางหน่วยและเร่งดำเนินการซ่อมเครื่องที่มีการซ่อมอยู่ในขณะนี้ให้เสร็จเร็วขึ้น, เตรียมน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อใช้แทนก๊าซ และดำเนินการทดสอบเครื่องกำหนดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสลับกับการใช้น้ำมันเตา เพื่อให้สามารถเดินเครื่องได้อย่างสม่ำเสมอในช่วงสิ้นปี

"เชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริษัทฯ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงสิ้นปีนั้นมีปริมาณความต้องการน้อย ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลที่ฤดูหนาวจะใช้ไฟน้อยกว่าฤดูร้อน และหากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกบริษัทก็จะนำเอามาตรการข้างต้นมาประยุกต์ใช้"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ