สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 5.7 ปี) LB21DA (อายุ 8.2 ปี) และ LB176A (อายุ 3.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 17,644 ล้านบาท 15,760 ล้านบาท และ 12,757 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13O15A (อายุ 14 วัน) CB13D26B (อายุ 91 วัน) และ CB13O31A (อายุ 34 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 29,635 ล้านบาท 25,826 ล้านบาท และ 17,571 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT13OA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 569 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รุ่น WHA189A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 300 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น QH144A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 222 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น) ในตราสารอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือลดลงในช่วงประมาณ -3 ถึง -9 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ตามทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติให้คงขนาดการซื้อพันธบัตรตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (QE) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ครั้งล่าสุด ประกอบกับตัวเลขของปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะออกประมูลในไตรมาสถัดไปมีจำนวนค่อนข้างน้อย ส่งผลให้อัตราผลตอบของแทนพันธบัตร ปรับตัวลดลง (ราคาเพิ่มสูงขึ้น) โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเริ่มกลับมาคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดขนาดมาตรการ QE อีกครั้ง ว่าอาจจะมีการลดขนาดของมาตรการ QE ลงเล็กน้อย ในการประชุม FOMC ที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค. หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงนับจากนี้ไปแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าติดตามและมีโอกาสเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของตลาดในช่วงสัปดาห์ถัดไป ได้แก่ ปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ในสภาคองเกรส
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 7,643 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,192 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 1,451 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 361 ล้านบาท