การเติบโตสินเชื่อของธนาคารในครึ่งปีหลังยังไปได้ด้วยดีแม้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่าจะมีการเพิ่มสำรองในครึ่งปีหลังมากขึ้นที่จะกดดันกำไรทั้งปี 56 แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าให้มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และเตรียมการล่วงหน้าก่อนที่จะพบปัญหา
ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3/56 และไตรมาส 4/56 จะตั้งสำรองเพิ่มเป็นไตรมาสละ 3 พันล้านบาทจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ตั้งสำรองราว 2 พันล้านบาทต้นๆ ดังนั้น บางโบรกเกอร์จึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 56 โดยคาดว่าเติบโต 14-20% และในปี 57 เติบโต 11-12% อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยการตั้งสำรองไปมากแล้ว
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บล.โกลเบล็ก ซื้อ 251 บล.ทรีนีตี้ ซื้อ 243 บล.บัวหลวง ซื้อ 231 บล.เมย์แบงก์กิมเอ็งฯ ซื้อ 228 บล.ดีบีเอส ฯ ซื้อ 226 บล.กรุงศรี ซื้อ 211 บล.เอเชียพลัส ซื้อ 207 บล.ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 200 บล.เคจีไอ ซื้อ 198
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวแนะนำ"ซื้อ"หุ้น KBANK เพราะมองภาพโดยรวมของธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่อง สินเชื่อในไตรมาส 3-4/56 ยังไปได้ดี และการดำเนินธุรกิจก็เป็นไปตามแผน แม้ว่าในไตรมาส 3-4/56 คาดว่าจะมีแนวโน้มตั้งสำรองสูงขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเตือนเริ่มมีความเสี่ยง โดยคาดว่าครึ่งหลังปี 56 KBANK จะตั้งสำรองไว้ไตรมาสละ 3 พันล้านบาท จากครึ่งปีแรกตั้งสำรอง 2 พันล้านบาทต้นๆ
"ดูโดยรวมทั่วไปก็โตได้ ราคาหุ้นก็ลงไปต่ำสุดในรอบ 3 ปี PBV ปีนี้อยู่ที่ 1.9 เท่า ปีหน้าคาดว่าอยู่ที่ 1.6 เท่า ถ้าไม่เกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา ใครที่มองการลงทุนระยะกลาง จูงใจเข้าลงทุนได้"นายธนเดช กล่าว
คาดสินเชื่อในไตรมาส 3/56 เติบโต 2.5% QoQ และคงเป้าหมายสินเชื่อทั้งปี 56 เติบโต 10%YoY
ทั้งนี้ ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 56 ลดลง 2.7% เหลือ 40.2 พันล้านบาท (+13.9%YoY) จากการปรับสำรองฯ เพิ่มขึ้น 12% (ปรับสมมติฐานสำรองฯ เพิ่มจาก 0.75% ของสินเชื่อรวมเป็น 0.85%) นอกจากนี้ ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 57 ลดลง 4.4% เหลือ 45 พันล้านบาท (+12.1%YoY) จากการปรับสำรองฯ เพิ่มขึ้น 14% (ปรับสมมติฐานสำรองฯ เพิ่มจาก 0.70% ของสินเชื่อรวมเป็น 0.80%)
น.ส.อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อยังเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่อาจไม่หวืออวาเหมือนต้นปี ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนนโยบายเข้มงวดเรื่องสินเชื่อด้วยการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น คาดในไตรมาส 3/56 และไตรมาส 4/56 จะตั้งสำรองเพิ่มเป็นไตรมาสละ 3 พันล้านบาท
แต่การเติบโตของ KBANK ยัง inline โดย 9 เดือนแรกของปี มีกำไรราว 75-76% ของคาดการณ์ทั้งปีแล้ว ทั้งนี้ คงประมาณการผลการดำเนินงานปี 56-57 ด้วยคาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิ 20.1% yoy และ 11% yoy ตามลำดับ ภายใต้คาดการณ์สินเชื่อสุทธิปี 56-57 เติบโตเพียง 9% yoy ในแต่ละปี ปรับลดลงจาก 12% yoy เมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งคาดสินเชื่อไตรมาส 3/56 เติบโต 2.5%QoQ และคงเป้าสินเชื่อทั้งปี 56 เติบโต 10%YoY
"KBANK เป็นหุ้น Top pick ของเรา ถ้าจะลงทุนให้ถือยาว หรือไม่ก็ยังไม่ต้องรีบเข้าลงทุน...ในภาวะตลาดผันผวนไม่ควรซื้อกลุ่มแบงก์ เพราะขึ้นลงตาม Flow ลองมองแนวรับครั้งที่แล้วอาจจะเข้าไปซื้อได้" น.ส.อุษณีย์ กล่าว
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)มองว่า KBANK มีการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่สูงเกินไปนัก และแหล่งรายได้มีความหลากหลาย เชื่อว่าความเสี่ยงของการตั้งสำรองสูงขึ้นสะท้อนในราคาหุ้นเป็นส่วนใหญ่แล้ว และการใช้นโยบายในเชิงอนุรักษ์นิยมของธนาคารน่าจะเป็นผลดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผลประกอบการ KBANK ยังแข็งแกร่ง แม้คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3/56 เท่ากับ 1.02 หมื่นล้านบาท ลดลง 7% q-o-q โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองสูงขึ้น จากค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม(Credit cost)โดยการเพิ่มขึ้นของ Credit cost อาจสร้างแรงกดดันเล็กน้อยต่อประมาณการกำไรทั้งปี
อย่างไรก็ตาม รายได้หลักที่ยังคงแข็งแกร่งด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) ซึ่งน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.5% ตามภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีเสถียรภาพ ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะได้แรงหนุนจากธุรกรรม Bancassurance ซึ่งเป็นจุดแข็ง, ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการทางการเงิน และรายได้ที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
ขณะที่ประมาณการปี 56 สินเชื่อ KBANK จะขยายตัว 11.5% โดยคาดว่าการเติบโตจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/56 ตามช่วงของฤดูกาลและความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อย
บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า แม้ผู้บริหาร KBANK จะมีความกังวลในภาพรวมเศรษฐกิจของไทย แต่ก็ยังเชื่อว่าจะบรรลุเป้าการเติบโตของสินเชื่อปี 56 ช่วง 9-11% ได้ คาดพอร์ตสินเชื่อโต 2% QoQ ณ สิ้นเดือนก.ย.โดยช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 สินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ขยายตัว 9% YTD(สูงกว่าเป้าหมายการเติบโตปี 56 ของ KBANK ในช่วง 4-6%) ตามด้วยสินเชื่อรายย่อยโต 6.2% (มีเป้าหมายปี 56 ในช่วง 10-13%)และสินเชื่อ SME ขยายตัว 5.2%(เทียบกับเป้าหมายทั้งปี 56 ที่ 10-12%)
คาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อปี 56 ที่ 10% และให้สมมติฐานส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในเชิงอนุรักษ์นิยมที่ 3.31% ในปีนี้