DTAC เจรจา CAT ใช้คลื่น 1800 บริการ 4G พร้อมคืนคลื่น กสทช.ประมูลปี 57

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 3, 2013 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)เปิดเผยว่า ในวันนี้ DTAC กำลังเข้าสู่การเจรการกับบมจ.กสท โทรคมนาคม(CAT)เพื่อนำคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ยังไม่ได้ใช้งานจำนวน 24.5 เมกะเฮิรตซ์ มาใช้งานในการให้บริการ 4G LTE โดยการให้บริการจะใช้รูปแบบธุรกิจขายส่งและขายต่อบริการตามแนวทางที่ กสท ได้เคยทำความตกลงกับกลุ่มบริษัทอื่นไปก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน หากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประสงค์จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปประมูล ดีแทคก็ยินดีที่จะคืนคลื่นดังกล่าวเพื่อให้นำไปประมูลในปี 2557 ทั้งนี้ ดีแทคพร้อมที่จะดำเนินการให้บริการในทั้ง 2 แนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและพัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยี 4 จี ที่เกิดขึ้น

นายจอน กล่าวว่า การที่บริษัทเลือกดำเนินการในทั้ง 2 ทางเลือกข้างต้น ก็เพราะ DTAC มีความพร้อมและมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยี 4G LTE ที่ทันสมัยมาสู่ประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะดำเนินการทั้ง 2แนวทางไปพร้อมๆ กัน

"ผู้บริหารระดับสูงของดีแทคได้เริ่มต้นเจรจากับทาง กสท แล้ว โดยพิจารณาการใช้รูปแบบธุรกิจแบบขายส่ง-ขายต่อบริการ คล้ายกับสัญญาที่ กสท ได้ลงนามกับกลุ่มบริษัทอื่นไปก่อนหน้านี้ โดยดีแทคจะหารือรูปแบบธุรกิจร่วมกับ กสทและทำงานร่วมกันกับ กสท รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อให้ได้ผลสรุปรูปแบบธุรกิจที่นำมาใช้ในการให้บริการ 4 จีได้อย่างมีประสิทธิภาพ"นายจอน กล่าว

อย่างไรก็ดี การนำคลื่นความถี่ที่ยังไม่ได้ใช้งานดังกล่าวไปประมูลในเดือนกันยายน 2557 ยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในระยะยาว ดังนั้น หาก กสทช ประสงค์จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปประมูลในเดือนกันยายน 2557 นี้ DTAC ก็ยินดีและไม่ขัดข้อง

อนึ่ง การจัดการประมูลล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาสัมปทานจะยิ่งส่งเสริมเรื่องความโปร่งใสและชัดเจนในการจัดการบริหารคลื่นความถี่จาก กสทช. ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะวางแผนลงทุนล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันผู้ใช้บริการก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีการกำหนดมาตรการเยียวยาอีก

หากเทียบเคียงกับราคาประมูลขั้นต่ำ (Reserve Price) ที่ตั้งไว้สำหรับคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่าของคลื่น DTAC ที่ยังไม่ได้ใช้งานน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 22,000 ล้านบาท หากรวมคลื่นดังกล่าวกับคลื่น จำนวน 25.2 เมกะเฮิรตซ์ ของทรูมูฟและดีพีซีและคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ของเอไอเอส จำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ และนำคลื่นทั้งหมดมาประมูลพร้อมกันในปี 2557 ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐได้มากกว่า 62,725 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ