ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BAY “AA-"และ“A+" คงแนวโน้ม Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 8, 2013 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ที่ระดับ “AA-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มีเสถียรภาพของธนาคารในธุรกิจหลัก ตลอดจนฐานะการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงในช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคต

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะได้รับประโยชน์จากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและจะมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นภายหลังการรวมกิจการกับ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU) สาขากรุงเทพฯ นอกจากนี้ อันดับเครดิตของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารหาก BTMU มีสถานะเป็นธนาคารแม่และมีอำนาจการบริหารงานในธนาคาร ทั้งนี้ เนื่องจากสถานะทางเครดิตของ BTMU มีความแข็งแกร่งกว่าของธนาคาร

ตามแผนการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา BTMU ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคาร โดย BTMU จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารทั้งหมดโดยสมัครใจซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารจะขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 1,538 ล้านหุ้น (คิดเป็น 25.33% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) ให้แก่ BTMU

นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายสถาบันการเงินหนึ่งรูปแบบของธนาคารแห่งประเทศไทย กิจการของ BTMU สาขากรุงเทพฯ จะรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารเมื่อการเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ ธนาคารจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,500 ล้านหุ้น โดยจัดสรรเป็นการเฉพาะให้แก่ BTMU เพื่อแลกกับการรับโอนสินทรัพย์และหนี้สิน รวมทั้งธุรกิจของ BTMU สาขากรุงเทพฯ

การรวมกิจการในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคาร โดยธนาคารจะมีสินเชื่อที่มีการกระจายตัวที่ดี มีฐานเงินฝากขนาดใหญ่ขึ้น และมีฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง และมีโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่กลุ่มฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หากการถือหุ้นและการรวมธุรกิจประสบความสำเร็จ BTMU จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 40% ถึง 80% โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการซื้อหุ้นและการเพิ่มทุนของธนาคาร อีกทั้งยังคาดว่าธนาคารจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก BTMU ในฐานะที่เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะยังคงติดตามความคืบหน้าของธุรกรรมดังกล่าวต่อไป

BTMU ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ภายใต้กลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 BTMU ได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก Moody’s Investors Service ที่ระดับ “Aa3" และจาก Standard and Poor’s ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่"

BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์รวมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2556 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 9.0% และเงินรับฝาก 7.5% ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ธนาคารมีการเติบโตจากการขยายตัวของธุรกิจและจากการซื้อกิจการ โดยการซื้อกิจการนั้นช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยได้มีการเพิ่มปริมาณสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงยิ่งขึ้น (อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เก่า สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล)

ทั้งนี้ สินเชื่อของธนาคารยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 15% ในปี 2555 และ 4% นับจากต้นปี 2556 ถึงเดือนมิถุนายน 2556 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 สินเชื่อของธนาคารประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย (51% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (24%) และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (25%) ปัจจุบันธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอเป็นพิเศษในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ธนาคารมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอดีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนจากปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพทั้งสิ้น 22.8 พันล้านบาท ลดลงจาก 52.1 พันล้านบาทในปี 2552 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 8.6% ในปี 2552 เหลือเพียง 2.6% ณ เดือนมิถุนายน 2556 อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอลง คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจเสื่อมถอยลงได้หากสินเชื่อรายย่อยจำนวนมากเริ่มกลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีปริมาณเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอสำหรับรองรับการเสื่อมค่าลงของสินทรัพย์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทางลบ ณ เดือนมิถุนายน 2556 สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ได้แก่ สินเชื่อค้างชำระเกิน 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 29% ของเงินกองทุนตามกฎหมายซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 37%

ธนาคารมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงการควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานและต้นทุนด้านเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2555 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 14.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) เท่ากับ 1.45% ในปี 2555 เพิ่มขึ้นจาก 1.02% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้รองรับวัฏจักรธุรกิจและเศรษฐกิจขาลงจำนวน 2.6 พันล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับปริมาณสำรองที่มีอยู่ ส่งผลให้กำไรสุทธิสำหรับครึ่งแรกของปี 2556 เท่ากับ 7.1 พันล้านบาท โดยยังคงใกล้เคียงกับกำไรสุทธิในงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับ ROAA ในงวดครึ่งแรกของปี 2556 (ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี) นั้นเท่ากับ 0.65% ลดลงเล็กน้อยจาก 0.72% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนตามกฎหมายที่เพียงพอต่อการเติบโตในระยะกลาง ณ เดือนมิถุนายน 2556 ธนาคารรายงานอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 12.03% และ 17.02% ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ