สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.7 ปี) LB196A (อายุ 5.7 ปี) และ LB21DA (อายุ 8.2 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 20,188 ล้านบาท 13,257 ล้านบาท และ 11,648 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14102B (อายุ 91 วัน) CB13O22A (อายุ 14 วัน) และ CB13O31A (อายุ 27 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 40,126 ล้านบาท 36,415 ล้านบาท และ 32,350 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTC13OB (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,123 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH169A (A) มูลค่าการซื้อขาย 622 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC146A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 252 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุน้อยกว่า 3 ปี ในช่วงประมาณ +1 ถึง +2 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ขณะที่ตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป Yield ปรับตัวลดลง ในช่วงประมาณ -1 ถึง -7 Basis Point ตามทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย ภายหลังสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินได้ทันภายในกำหนดเวลา (30 ก.ย.) ทำให้หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ หลายแห่งต้องปิดทำการลง พนักงานจำนวนมากต้องหยุดงานโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินงานและความเชื่อมั่นของรัฐบาล ทำให้มีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดตราสารหนี้ไทย และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวลดลง (ราคาเพิ่มสูงขึ้น) นอกจากนี้ ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ของไทย ที่ผ่านการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีผลให้การออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นไปตามแผนของกระทรวงการคลัง หลังจากที่ไม่สามารถกำหนดตารางการประมูลพันธบัตรในเดือน ต.ค. เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงติดตามประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหางบประมาณภาครัฐ และปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่กำลังจะชนเพดาน 16.7 ล้านล้านเหรียญ USD ในวันที่ 17 ต.ค. นี้
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 9,069 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,365 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 4,704 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 71 ล้านบาท