ในแง่ของกำไรสุทธิจะเติบโตในอัตราเท่าใดจากปี 55 ที่มีกำไร 656 ล้านบาทนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะในปี 55 บริษัทมีกำไรจากการปรับโครสร้างหนี้ด้วย แต่ปีนี้เป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจปกติเป็นหลัก โดยครึ่งปีแรกมีกำไรแล้ว 64 ล้านบาท ส่วนจะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้อีกหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่กำไรจากการดำเนินงานเป็นไปตามที่วางแผน
ทั้งนี้ UMI GROUP เกิดจากการรวมกันของ 3 บริษัทกระเบื้องชั้นนำ ได้แก่ บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม(UMI), บมจ.โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม (RCI) และ บริษัท ที.ที เซรามิค จำกัด (TTC) กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 34 ล้านตารางเมตร/ปี
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/56 ยอดขายใกล้เคียงเป้าหมาย แต่ภาพรวมครึ่งปีหลังยอดขายน่าจะทรงๆ ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก โดยเฉพาะ UMI คงไม่หวือหวา เพราะปัจจัยบวกในด้านต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูผลกระทบหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ของประเทศผ่านพ้นไป ซึ่งเชื่อว่าน่าจะกระตุ้นยอดขายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างให้ดีขึ้นบ้าง แต่ปีนี้น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ไม่ได้ท่วมมากเหมือนปี 54 โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ท่วมเป็นประจำทุกปี ดังนั้น ยอดขายคงไม่โตก้าวกระโดดมากนัก
"น้ำท่วมคงไม่มีนัยสำคัญ อาจเป็นระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวไม่เป็นนัย กระเบื้องไม่ได้เสียหายมาก แต่ผลจากหลังน้ำท่วม บ้านเรือนเสียหายพื้นที่บางพื้นที่ซ่อมแซมแล้วก็ซ่อมส่วนที่มีกระเบื้องไปด้วยก็ OK เพราะกระเบื้องที่มีคุณภาพดีแบรนด์ดูราเกรสของเราน้ำท่วมไปเปิดออกมาก็เหมือนเดิมถ้าเป็นการปูพื้นที่ดี"นายสุทิน กล่าว
ส่วนปี 57 เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้ารักษาการเติบโตของยอดขายไม่ต่ำกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย ไม่ได้คิดว่าจะต้องเติบโตก้าวกระโดดมากๆ เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์)รายอื่น แต่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มาร์เก็ตแชร์ทั้งกลุ่ม 3 บริษัทอยู่ที่ 15% ซึ่งจะรักษาระดับดังกล่าวไว้ โดยช่องทางจำหน่ายหลักเป็นร้านค้าปลีก ตัวแทนจำหน่าย และการขายผ่านโมเดิร์นเทรด
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของกลุ่ม UMI มาจากการขายในประเทศ 90% ต่างประเทศ 10% จากนี้ไปบริษัทมีแผนจะขยายตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)เพิ่มขึ้น โดยจะมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายในพม่าและกัมพูชาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ได้เข้าไปขายในลาวแล้ว เชื่อว่าในปีห 57 ก็จะมียอดขายจาก 3 ประเทศดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 11-12% ในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากจะมีการขยายในประเทศควบคู่ไปด้วย
"ในแง่เม็ดเงินจะเห็นยอดขายเพิ่ม แต่ในแง่สัดส่วนอาจไม่สำคัญ เพราะยอดขายในประเทศต้องการโตด้วย สัดส่วนส่งออก 10% ก็รักษาอาจได้ 11% ในแง่ total เพิ่มลำบาก เพราะในประเทศเพิ่มและจะไปเพิ่มต่างประเทศมากกว่าเดิมไม่ได้ เช่น ปีหน้าถ้ายอดขายจะโต 3,300 ล้านบาท ส่งออก 10% ก็ 330 ล้านบาท หรืออาจเป็น 11-12% แต่ในประเทศต้องโตด้วย"นายสุทิน กล่าว
นายสุทิน กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต โดยจะใช้กำลังผลิตที่มีอยู่ใน 3 กลุ่มบริษัทไปก่อน แต่อาจจะมีการปรับในลักษณะ capacity alocation เนื่องจากกำลังผลิตรวมยังเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจในปีนี้ และปี 57 อย่างสบายๆ หากจะเพิ่มกำลังการผลิตก็จะต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดีมากและความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นเร็วก็อาจจะพิจารณาในปีหน้า
บริษัทยังจะตั้งงบลงทุนปีหน้าที่กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนปกติที่เคยกำหนดไว้ทุกปี ไม่รวมการซื้อกิจการ ซื้อหุ้นเพิ่มหรือการลงทุนโครงการใหม่ๆ แต่ขณะนี้บริษัทก็ยังไม่มีแผนที่จะเข้าไปควบรวมกิจการเพิ่มเติม ส่วนจะซื้อหุ้น RCI เพิ่มหรือไม่นั้น ยังไม่มีแผนงาน โดยปัจจุบัน UMI ถือหุ้นใน RCI ราว 32% และอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน