RATCH คาดโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลาเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ใน ต.ค.57

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 14, 2013 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้า ชีวมวลสงขลาซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 12 เดือนจึงจะแล้วเสร็จและพร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ประมาณเดือนตุลาคม 2557

โครงการนี้ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างโครงการ โดยงานออกแบบทางวิศวกรรม การจัดซื้ออุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้า รวมทั้งงานก่อสร้างฐานรากและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการฯ มีแผนจะทดลองระบบเครื่องสับไม้ประมาณเดือนมิถุนายน 2557และ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จจนสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ราวเดือนตุลาคม 2557

“บริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนเป็น 500 เมกะวัตต์ โดยมุ่งเน้นที่พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้พยายามแสวงหาการลงทุนโครงการพลังงานชีวมวลภายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเพราะปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีมากเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าได้อีกมาก ขณะนี้บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนพัฒนาพลังงานชีวมวลอีกหลายโครงการในอนาคต"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลสงขลา กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีมูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรัฐบาลมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในปี 2564 เท่ากับ3,630 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล 1,790 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ชุมชนยังได้รับประโยชน์จากการจ้างงานและการจำหน่ายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 37,500 ตันต่อปี

โครงการนี้ดำเนินการโดยบริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง RATCH ถือหุ้นร้อยละ 40 บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด ร้อยละ 40 และ สหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด ร้อยละ 20 โครงการนี้ใช้ปีกไม้และรากไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าประมาณ 300-370 ตันต่อวัน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับกฟภ.ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากระยะเวลา 25 ปี และได้รับอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มจำนวน 1.30 บาทต่อหน่วยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)เป็นเวลา 7 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ