(เพิ่มเติม) PTT คาดปี 57 นำเข้า LNG กว่า 3 ล้านตันจากปีนี้ 1.5-2 ล้านตัน, ปี 58 เป็น 5 ล้านตัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 16, 2013 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.(PTT) คาดว่าปี 57 จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน จากปีนี้นำเข้ามาราว 1.5-2 ล้านตัน และในปี 58 ปริมาณการนำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน โดยเตรียมหาแหล่งนำเข้า LNG ที่สามารถทำสัญญาในระยะยาว พร้อมทั้งศึกษาแผนสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG เฟส 3 รองรับเพิ่มอีก 5 ล้านตัน คาดใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท

นายภาณุ สุทธิรัตน์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด คาดว่า ตามแผนงานในปีนี้จะมีการนำเข้า LNG ประมาณ 1.5-2 ล้านตัน และในปี 57 จะนำเข้ากว่า 3 ล้านตัน จากนั้นในปี 58 จะเพิ่มเป็น 5 ล้านตัน

"คาดว่าปีนี้นำเข้าไม่ถึง 2ล้านตันและ ปีหน้าอาจนำเข้าไม่ถึง 3 ล้านตันส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตการใช้พลังงานเพอ่มขึ้นตามความค้องการใช้ไฟฟ้า และตามแผน PDP ก็ใช้พลังงานจากก๊าซมากที่สุด" นายภาณุ กล่าว

ดังนั้น เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ปตท.จึงอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งก๊าซที่มีสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี หลังจากในปี 55 บริษัทได้ทำสัญญาซื้อจากกาตาร์ จำนวน 2 ล้านตัน ซึ่งราคาอิงกับราคาน้ำมันดิบ เพราะเป็นการตกลงซื้อขายก่อนจะเกิด shale gas ในสหรัฐ โดยกำหนดเริ่มนำเข้าในปี 58

นายภาณุ กล่าวว่า ปตท.มองหาแหล่งก๊าซ LNG ในสหรัฐ ซึ่งระหว่างนี้ได้เจรจาไว้หลายราย รวมทั้งสนใจโครงการผลิต LNG ในสหรัฐฯงต้องได้รับใบอนุญาตส่งออกไปยังประเทศ Non-US FTA และใบอนุญาตก่อสร้าง FERC โดยปัจจุบันมี 4 โครงการที่ได้รับอนุญาตแล้วเริ่มผลิตได้ในปี 60 ทั้งนี้ ราคาซื้อขายจะใช้ราคาก๊าซอ้างอิงตลาดสหรัฐสูตรราคา Henry Hub (HH) บวกกับค่าขนส่งและเปลี่ยนสภาพ โดยรวมราคาจะต่ำกว่าที่ราที่ตกลงซื้อขายกับกาตาร์

นอกจากนั้น ยังเจรจากับบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) เพื่อทำสัญญาซื้อขายระยะยาวในแหล่งก๊าซที่ประเทศโมซัมบิก ที่ PTTEP เข้าลงทุน โดยคาดว่าจะสรุปและเซ็นสัญญา HOA ภายในปีนี้ และเจรจาซื้อก๊าซจากโครงการ FLNG ของ PTTEP ที่ออสเตรเลียอีกด้วย

นายภาณุ ยังกล่าวว่า ปตท. ศึกษาลงทุนก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG ระยะที่ 3 รองรับอีก 5 ล้านตันต่อปี ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการเก็บและแปรสภาพก๊าซLNG จากของเหลวเป็นก๊าซได้เป็น 15 ล้านตัน โดยเบื้องต้นคาดใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยต้องหาสถานที่ตั้งใหม่ ทั้งนี้ การก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG ใช้เวลาก่อสร้างนาน 4-5 ปีจึงต้องวางแผนล่วงหน้า

ส่วนการก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG ระยะที่ 2 รองรับได้ 5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าระยะที่ 1 ที่ใช้เงินลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท เพราะใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันทั้งสองเฟส ใน จ.ระยอง ซึ่งขณะนี้มีผู้รับเหมายื่นข้อเสนอราคามา 5 ราย และบริษัทจะประเมินข้อเสนอทุกรายร่วมกับที่ปรึกษาคือโตเกียวก๊าซ คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในไตรมาส 1/57

ปัจจุบัน ปตท.จัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG ในตลาดspot มาจากไนจีเรีย ทรินิแดด เยเมน กาตาร์ อินโดนีเซียและรัสเซีย

ด้านนายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 5 ขณะนี้กลับมาผลิตได้ 50%ของกำลังการผลิตและจะคงการผลิต 50% ไปจนถึงปลายปี 57 เนื่องจากต้องรออุปกรณ์ที่สั่งซื้อมาเปลี่ยนและซ่อมแซมประมาณ 1 ปี

ขระที่การจัดหาพลังงานส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบน้ำมันและก๊าซ คาดว่าระยะยาวใน 20 ปีความต้องการใช้พลังงานของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณสำรองในประเทศ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ 10.1 ล้านล้านลบ.ฟุต (Tcf) คอนเดทเสท 239ล้านบาร์เรล(MMbbl) และ น้ำมันดิบ 215 ล้านบาร์เรล (MMbbl) คาดว่าจะใช้ได้อีกประมาณ 10ปี โดยปัจจุบันมีอัตราการใช้อยู่ที่ประมาณ 4,500 ล้านลบ.ฟุต/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ