ทั้งปี 56 บริษัทจะนำสินทรัพย์ออกขายเข้ากองทุนฯ มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 6 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 4.3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 40% ส่งผลให้รายได้ปีนี้จะเติบโต 30 %จากปีก่อน นอกจากนั้น รายได้ค่าเช่าพื้นที่ยังเพิ่มขึ้น 7-8% ด้วย
TICON อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ไทคอน อินดัสเทรียล โกรท หรือ ทีโกรท (TGROWTH) มูลค่า 6 พันล้านบาท ซึ่งจะเข้าลงทุนในสิทธิการเช่าในที่ดินและในอาคารโรงงานของไทคอน รวมจำนวน 40 โรง ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 121,175 ตารางเมตร และสิทธิการเช่าในที่ดินและในอาคารคลังสินค้าของทีพาร์ค ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TICON จำนวน 50 ยูนิต ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 182,095 ตารางเมตร
กรรมการผู้จัดการ TICON กล่าวว่า ในปี 57 บริษัทเตรียมขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 6-7 พันล้านบาทเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของหลักเกณฑ์การจัดตั้ง คาดว่าจะนำออกขายในช่วงปลายปี 57 ซึ่งจะทำให้รายได้ในปีหน้าเติบโตราว 30% ขณะเดียวกัน บริษัทคาดว่าจะปรับขึ้นค่าเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าประมาณ 3-4% ตามอัตราเงินเฟ้อ
ในด้านการลงทุนในปี 57 บริษัทตั้งงบไว้ 8-9 พันล้านบาท ลลดงจากปี 56 ที่ตั้งไว้จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้บริษัทมีการซื้อที่ดินเพื่อรองรับการขยายงาน โดยใช้ซื้อที่ดินไปแล้วประมาณ 7-8 พันล้านบาท และใช้เป็นค่าก่อสร้าง 5-6 พันล้านบาท แต่ปีหน้างบลงทุนรวมจะลดลง เพราะส่วนใหญ่ใช้เป็นค่าก่อสร้าง และจะซื้อที่ดินน้อยลงหลังจากปีนี้ซื้อเข้ามามากแล้ว โดยเฉพาะที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ ที่ดินในนิคมฯอมตะ สวนอุตสหกรรมโรจนะ ที่จะส่งมอบในปีหน้า
ณ สิ้นปี 56 บริษัทจะมีพื้นที่เช่าประมาณ 1.2 ล้าน ตร.ม. แบ่งเป็นคลังสินค้า 7-8 แสนตร.ม. โรงงานให้เช่า 3-4 แสนตร.ม.
นายวีรพันธ์ กล่าวว่า ความต้องการของคลังสินค้าและโรงงานให้เช่ายังเติบโตต่อเนื่อง โดยโรงงานให้เช่าเติบโตดีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งขณะนี้บริษัทเจรจากับบริษัทผลิตไก่แช่แข็งจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกัน ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้าก็มีแนวโน้มสดใสตามการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก ทำให้บิ๊กซี, แม็คโคร, เทสโก้โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น ก็ยังเข้ามาเจรจาเช่าคลังสินค้าต่อเนื่อง รวมถึงการเปิด AEC เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คลังสินค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา(Solar Rooftop)ขนาด 1 เมกะวัตต์ บริษัทคาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในปีนี้ ใช้งบลงทุน 60 ล้านบาท และในปีหน้าหากรัฐบาลเปิดให้ยื่นในเฟสต่อไป บริษัทก็จะเข้าร่วมโครงการอีก เพราะการผลิตไฟฟ้าชนิดนี้ เป็น Green Energy เหมาะกับลูกค้ายุโรปที่เน้นสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวตั้งเป้าผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR)ประมาณ 10-12%
"ปี 57 หากรัฐบาลจะเปิดเพิ่ม เราจะขอทำโซลาร์รูฟ แต่การลงทุนหลักทั้งคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าโซลาร์รูฟ แต่เนื่องจากโซลาร์รูฟดีในแง่ Green Energy ลูกค้ายุโรปชอบ เพราะเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม"นายวีรพันธ์ กล่าว