ขณะนี้บริษัทมีงานในมือมูลค่ากว่า 126,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างรายได้ต่อปีกว่า 30,000 ล้านบาทตลอดช่วง 4-5 ปีนี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมงานใหม่อื่นๆ
สำหรับโครงการสำคัญที่ดำเนินงานอยู่ล้วนมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ โครงการฝายไซยะบุรีในสปป.ลาว, โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนฯ, โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัญญาที่1 และ2 สายสีน้ำเงิน สัญญาที่ 2 และ 5 และสายสีม่วงสัญญาที่ 1 และ 4
นายปลิว กล่าวว่า ในส่วนโครงการไฮสปีดเทรนที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก บริษัทได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมไว้แล้วโดยสามารถเข้าร่วมประมูลทั้งในส่วนงานโยธาและงานจัดหาระบบรถไฟฟ้า แต่หากเป็นงานให้บริการเดินรถบริษัทอาจร่วมกับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) ซึ่งมีความพร้อมและประสบการณ์ด้านนี้เข้าร่วมประมูล
"บริษัทมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วมประมูลงานต่างๆโดยในประเทศจะเน้นที่งานก่อสร้างและลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท เช่น มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช รถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟรางคู่ ทางด่วน โรงไฟฟ้า ส่วนนอกประเทศที่สำคัญคืองานลงทุนและก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในสปป.ลาว และเมียนมาร์ เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า"นายปลิว กล่าว
ด้านการลงทุนในบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) สามารถสร้างกำไรและเงินปันผลมาที่ช.การช่างอย่างสม่ำเสมอ และทำให้มูลค่าการลงทุนของบริษัทเติบโตขึ้นมาก มีเพียง BMCL ที่ยังขาดทุนอยู่
อย่างไรก็ตาม นายปลิว ยืนยันว่า CK มั่นใจในการเพิ่มทุนของ BMCLจำนวน 8,550 ล้านบาทเป็นอย่างมาก โดยบริษัทจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับบุคคลในวงจำกัด(Private Placement) จำนวน 4,200 ล้านบาท (หุ้นละ 1 บาท) และใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2,000 ล้านหุ้นในฐานะผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) อย่างแน่นอน เนื่องจากมองว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อ BMCLอย่างมาก เพราะสามารถนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนหนี้ ลดดอกเบี้ยและเพิ่มส่วนทุน ส่วนเงินที่เหลือก็เพียงพอที่จะไปใช้ดำเนินงาน
ปัจจุบัน BMCL มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากแม้จะขาดทุนอยู่บ้าง แต่คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 59 จากรายได้ค่าโดยสารและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่มากขึ้น และหากสามารถเปิดให้บริการสายสีม่วงได้ก่อนกำหนดจะทำให้ BMCL มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากทันที ซึ่งในส่วนสายสีม่วงนี้บริษัทเป็นผู้จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าให้แก่ BMCL ด้วย
นอกจากนี้การที่ส่วนทุนของ BMCL แข็งแกร่งขึ้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงและเป็นการเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเพื่อให้บริการในรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยเฉพาะสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากสายสีน้ำเงินที่ BMCL ให้บริการอยู่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน สายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบโมโนเรล