ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/56 (ไม่รวมสำรองการด้อยค่าและหนี้สงสัยจะสูญ ภาษีเงินได้ และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม) เพิ่มขึ้น 30% เป็น 19,800 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการขยายตัวสูงของรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
ส่วนผลประกอบงวด 9 เดือนแรก (ณ สิ้นกันยายน 56) ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 38,500 ล้านบาท เติบโต 28.6% จากช่วงเดียวกันของปี 55
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า สภาวะการณ์ของเศรษฐกิจโลกถือเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการดำเนินงานของตลาดการเงินมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารเองได้เผชิญกับความท้าทายนี้เช่นเดียวกับภาคธุรกิจการเงินไทยอื่นๆ ซึ่งธนาคารสามารถบริหาร งานต่างๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี มีกำไรสุทธิในระดับสูง มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถรักษาคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับดี มีอัตราสำรองหนี้สงสัยจะสูญและเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจรออยู่ข้างหน้า ณ จุดนี้ ถือได้ว่าธนาคารมีความพร้อมอย่างดีที่สุดในรอบ 108 ปีของการดำเนินการ ซึ่งความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับเปลี่ยน เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด
ในไตรมาส 3/56 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เพิ่มขึ้น 16.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อขยายตัว 12.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ(SME) และสินเชื่อลูกค้าบุคคล รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 34.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของเงินปันผลพิเศษจากการลงทุนในหลักทรัพย์ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้จากค่าธรรมเนียม และเบี้ยประกัน รวมทั้งรายได้จากธุรกรรมเพื่อการค้าและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมจำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ส่งผลให้มูลค่าสำรองเพิ่มเติมสะสม เพิ่มขึ้นเป็น 4,200 ล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลดลงจาก 2.13% ณ สิ้นปี 55 มาอยู่ 2.08% ณ สิ้นเดือนกันยายนปีนี้ ทำให้อัตราสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 144.8% ณ สิ้นปี 55 เป็น 151.5 % ณ สิ้นเดือนกันยายนปีนี้
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุดในกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนถึงจุดแข็ง และความยั่งยืนของรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้จุดที่สำคัญที่สุดคือความผูกพันของลูกค้าที่แน่นแฟ้น คุณภาพและความเชี่ยวชาญในธุรกิจ รวมทั้งความรักและเชื่อมั่นในองค์กรของพนักงาน นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต