แต่หากหักรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในงวด 9 เดือนปี 55 และ 56 แล้วกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น 29.1% โดยรายการพิเศษที่สำคัญในงวดเก้าเดือนปี 55 คือ ส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท. กำไรจากการขายหุ้นในบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของธนาคาร และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแพ้คดี สำหรับรายการพิเศษในงวดเก้าเดือนปี 56 คือ กำไรจากการคืนทุนในบริษัทย่อยซึ่งอยู่ระหว่างการชำระบัญชี
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.56 และ 55 รายได้จากการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 56 จำนวน 6,383.4 ล้านบาท ลดลงจากปี 55 จำนวน 56.8 ล้านบาท หรือ 0.9% (แต่หากหักรายการพิเศษแล้วรายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 1,115.9 ล้านบาท หรือ 21.6%) การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากรายการพิเศษ ซึ่งทำให้รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 1,280.2 ล้านบาท หรือ 61.1% ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 949 ล้านบาท หรือ 25.2% เป็นผลสะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 274.4 ล้านบาท หรือ 47.7%
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 485.2 ล้านบาทหรือ 12.2% สาเหตุส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 69.8% ในขณะที่งวด 9 เดือนปี 55 อยู่ที่ 61.7% ซึ่งเกิดจากรายการพิเศษปี 55
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ 3.2% สำหรับงวด 9 เดือนปี 56 ในขณะที่งวด 9 เดือนปี 55 อยู่ที่ 3.21% ทั้งนี้สืบเนื่องจากผลกระทบจากภาวะการแข่งขันด้านเงินฝากในตลาด
ณ วันที่ 30 ก.ย.56 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.55 ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย กลุ่มธนาคารมีเงินฝากและตั๋วแลกเงินจำนวน 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากสิ้นปี 55 จำนวน 1.46 แสนล้านบาท
และ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีจำนวน 4.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) เท่ากับ 2.5% เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.55 ซึ่งอยู่ที่ 2.8% เป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการประเมินความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ เท่ากับ 83.2% ลดลงจากสิ้นปี 55 ซึ่งอยู่ที่ 85.1% และเงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 3.6 พันล้านบาท เป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.4 พันล้านบาท ส่วนเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร มีจำนวน 2.83 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 14.7% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.4%