"จากสถานการณ์น้ำที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นแล้วว่าการระบายน้ำเป็นไปได้ค่อนข้างช้าเนื่องจากเส้นทางระบายน้ำมีน้อยในขณะที่ปริมาณน้ำมีมาก ซึ่งถือได้ว่ามากที่สุดในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมา"
นายประเสริฐ กล่าวว่า ทางอมตะนครต้องหามาตรการดำเนินการเพื่อป้องกันโรงงานภายในนิคมโดยเจรจากับผู้ประกอบการให้จัดทำบังเกอร์ด้วยคอนกรีตหรือคันดินที่มีความแข็งแรงและสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตรเป็นแนวป้องกันน้ำเบื้องต้น พร้อมทั้งจัดหาเส้นทางลัดให้น้ำผ่านได้โดยสะดวก ขุดลอกขยายคลองในพื้นที่ ปรับปรุงประตูน้ำให้สะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงเร่งหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผนป้องกันน้ำระยะยาว โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมเนื่องจากมีถนนหลายสาย เพราะฉะนั้นการที่จะก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่หรือปรับปรุงยกระดับต้องคำนึงถึงทางน้ำผ่านที่จะไปลงคลองพานทองและแม่น้ำบางปะกงด้วย
ด้านนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) กล่าวว่า อมตะนครฯ จะเร่งดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมพื้นผิวการจราจรและทางเท้า ปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ความสะอาด พื้นที่สีเขียว โดยการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม
สำหรับพื้นที่เฟส 7-9 พร้อมเดินหน้าให้ความช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่โดยรอบนิคมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังต่อไป รวมถึงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ในการพัฒนาเส้นทางผ่านน้ำ อาทิ การขุดลอกคลองระบายน้ำ การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำด้วยระบบไฟฟ้า ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดการแถลงสถานการณ์น้ำที่ผ่านมา แผนป้องกัน และแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมของนิคมอมตะนครในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนในวันที่ 28 ต.ค.เวลา 13.30 น. ณ กระทรวงอุตสาหกรรม