ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ AIS ที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตสากลระยะยาวมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต คือ กฎระเบียบและนโยบายของอุตสาหกรรมที่พัฒนาดีขึ้น: การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS สะท้อนมุมมองของฟิทช์ที่ว่า การออกใบอนุญาตสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ภายใต้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนในปี 2555 เป็นผลดีต่อการพัฒนาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย การออกใบอนุญาตดังกล่าวทำให้กฎระเบียบ และนโยบาย ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความชัดเจนมากขึ้น และทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เมื่อเทียบกับระบบสัญญาสัมปทานเดิม
อันดับเครดิตสากลไม่เปลี่ยนแปลง ฟิทช์กล่าวว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ ของ AIS ไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มจนกว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของบริษัทส่วนใหญ่จะมาจากรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ภายใต้ระบบใบอนุญาต และบริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวก
รายได้เติบโตจากบริการ 3G ฟิทช์มองว่าการจัดสรรคลื่นความถี่น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายของ AIS และรองรับการเติบโตของการสื่อสารด้านข้อมูลโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Data Traffic) ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่ารายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-Voice Revenue) ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับ 25%-30% ต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่ไม่ใช่เสียงที่สูง น่าจะช่วยลดผลกระทบจากการเติบโตที่ต่ำของรายได้จากบริการในรูปแบบเสียง
ความคล่องตัวในการรองรับการลงทุนที่สูง ค่าใบอนุญาตและเงินลงทุนที่สูงสำหรับการก่อสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G อาจทำให้หนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สินของ AIS เพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2559 แต่ฟิทช์มองว่า กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบันของ AIS น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบจากกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ที่คาดว่าจะติดลบจากการลงทุนที่สูง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ของปี 2556 AIS มีอัตราส่วน Funds Flow from Operation (FFO)- Adjusted Net Leverage Ratio อยู่ที่ 0.16 เท่า
AIS มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศ บริษัทมีความได้เปรียบจากโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยในปี 2555 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ 51% นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยลบ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง, การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวก, กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ภายใต้ระบบใบอนุญาต, อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของบริษัทสูงกว่า 45% อย่างต่อเนื่อง (ในปี 2555 อยู่ที่ 44.3%)