ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต กฎระเบียบและนโยบายของอุตสาหกรรมที่พัฒนาดีขึ้น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนมุมมองของฟิทช์ที่ว่า การออกใบอนุญาตสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ภายใต้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนในปี 2555 เป็นผลดีต่อการพัฒนาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย การออกใบอนุญาตดังกล่าวทำให้กฎระเบียบ และนโยบาย ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความชัดเจนมากขึ้น และทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เมื่อเทียบกับระบบสัญญาสัมปทานเดิม
รายได้เติบโตจากบริการที่ไม่ใช่เสียง ฟิทช์มองว่าการจัดสรรคลื่นความถี่น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายของ DTAC และรองรับการเติบโตของการสื่อสารด้านข้อมูลโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Data Traffic) ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่ารายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-Voice Revenue) ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับ 25%-30% ต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่ไม่ใช่เสียงที่สูง น่าจะช่วยลดผลกระทบจากการเติบโตที่ต่ำของรายได้จากบริการในรูปแบบเสียง
การลงทุนที่สูง แต่อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ ค่าใบอนุญาต และเงินลงทุนที่สูงสำหรับการก่อสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G อาจทำให้หนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สินของ DTAC เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ฟิทช์มองว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนหนี้สินของ DTAC ที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัท น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบจากการลงทุนที่สูง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ของปี 2556 DTAC มีอัตราส่วน Funds Flow from Operation (FFO)- Adjusted Net Leverage ratio อยู่ที่ 1.0 เท่า โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2556
DTAC มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่สองของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการในปี 2555 อยู่ที่ 31% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา DTAC ได้ลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรองรับการขยายตัวของบริการที่ไม่ใช่เสียง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรง
ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องทางด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่าง DTAC กับ Telenor ซึ่งมีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์ กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยลบ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง, การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท, ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง ส่วนปัจจัยบวก คือ การปรับตัวลดลงของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio ต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง