บลจ.กสิกรไทยจะเสนอขายกองทุนเปิดเค เอเชียน สมอลเลอร์ หุ้นทุน (K-ASIA) ในวันที่ 31 ต.ค.- 6 พ.ย. 56 นี้ โดยสามารถลงทุนขั้นต่ำได้เพียง 5,000 บาท
นายนาวิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทาง บลจ.กสิกรไทย ยังได้มีการศึกษาจะเปิดกองทุน ที่มีการนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดขายได้ในช่วงต้นปี 57
ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย คาดแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังทรงตัว จากที่คาดว่าสหรัฐฯยังจะไม่มีการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เนื่องจากยังต้องรอบทสรุปของการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯก่อน จึงจะเริ่มมีการชะลอ QE ส่วน Fund flow จะกลับมาหรือไม่นั้นก็ยังต้องรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยว่าจะออกมาอย่างไร
"เราไม่สามารถตอบได้ว่า Fund flow จะไหลกลับมาหรือไม่ เพราะยังมีความผันผวนของการเมืองภายในประเทศที่เป็นตัวกดดันอยู่ แต่เราก็เชื่อว่าในระยะต่อไป นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนอย่างแน่นอน จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังมีความเข็งแกร่ง และพื้นฐานบริษัทจดทะเบียนยังดีอยู่" นายนาวิน กล่าว
ความกังวลในเรื่องการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ส่งผลให้เม็ดเงินต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียในช่วงที่ผ่านมา โดยทาง บลจ. กสิกรไทย มองว่าการปรับลด QE จะเลื่อนออกไปอย่างน้อยในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ของปี 57 เนื่องจากการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯต้องปิดทำการจากปัญหาเรื่องงบประมาณ และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ จึงเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะไม่ตัดสินใจลด QE ในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเงินจะยังอยู่ในตลาดหุ้นเอเชียอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับลดมาตรการ QE จริงเชื่อว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น เนื่องจากเม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ได้ไหลออกไปมากแล้ว และยังไม่ได้ไหลกลับคืนมามากนัก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นเอเชียในระยะยาว นอกจากนี้ดัชนี MSCI AC Asia Small Cap index เองก็คงอยู่ในระดับต่ำ โดยมี Forword P/E อยู่ที่ประมาณ 10 เท่า
นายนาวิน กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีการชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่ไอเอ็มเอฟก็ยังคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกืจเอเชียในปีนี้ว่าจะมีการเติบโตได้ 6.4% ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับที่สูง โดยเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4.5%
นอกจากนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น รวมไปถึงการค้าระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน ที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องมาในเศรษญกิจของภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัจจุบัน สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ใน 3 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของประเทศในเอเชีย รวมไปถึงการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้มีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียเติบโต ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นและการลงทุนระยะยาว