ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 1 พันลบ.ของ BECL ที่ระดับ A/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 31, 2013 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้จะนำไปใช้สำหรับโครงการทางด่วนเส้นใหม่ของบริษัท

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอและเชื่อถือได้ของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งเกิดจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต และการลงทุนขนาดใหญ่ในสัมปทานทางด่วนใหม่

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทควรดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงการลงทุนเพื่อรักษาคุณภาพเครดิตของบริษัท

BECL เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ทางด่วนขั้นที่ 2 นั้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ซึ่งก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. จึงเป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด บริษัทและกทพ. มีการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางระหว่างกันในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ในเขตเมือง (ส่วน A และ B) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนหมดอายุสัมปทาน สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. คือ 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. สำหรับในเขตนอกเมือง ส่วน D, C และ C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ.

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ส่วน SOE) โดยสัญญาสัมปทานเป็นแบบระบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีและมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน บริษัทจะได้รับรายได้ค่าผ่านทาง 100% ทั้งนี้ โครงการมีมูลค่าการลงทุน 25,491 ล้านบาท โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลจากการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนเครือข่ายทางด่วนของบริษัท ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% ต่อปี ในเดือนกันยายน 2556 ได้มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ในอัตรา 5-10 บาทตามประเภทของยานพาหนะ การปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณจราจรบนทางด่วนลดลง 2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.099 ล้านเที่ยว เมื่อเปรียบเทียบกัย 1.125 ล้านเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2556

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน 2556 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการปรับขึ้นราคาค่าผ่านทาง สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2556 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อน และปริมาณจราจรบนทางด่วนทั้งปีจะเติบโตเพียงเล็กน้อยในปี 2556 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทริสเรตติ้งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าผ่านทางจะส่งผลกระทบต่อปริมาณจราจรบนทางด่วนในระยะสั้น

โดยภาพรวมแล้ว ความต้องการใช้ทางด่วนยังมีแนวโน้มเป็นบวกด้วยอัตราการเติบโตปานกลาง แม้จะมีปัจจัยกดดันจากการบริโภคที่อ่อนตัวลงและภาระหนี้ภาคครัวเรือน ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของปริมาณจราจร ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑล และเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง แม้บริษัทจะมีอัตรากำไรที่สูง แต่ก็มีภาระหนี้สูงจากการลงทุนเช่นกัน บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 5.8% ในปี 2555 และ 2.3% สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อน

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นปีละ 2%-4% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ในครึ่งปีแรกของปี 2556 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 23.97% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ซึ่งช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่อง บริษัทได้รับการคาดหมายให้มีเงินทุนจากการดำเนินงาน 5,000-5,600 ล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้เพียงพอที่จะชำระหนี้ ลงทุนในโครงการ SOE และจ่ายเงินปันผล อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 48.79% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลางโดยเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการ SOE ที่บริษัทมีแผนการลงทุนโดยใช้เงินกู้ระยะยาวประมาณ 75% หรือ 19,000 ล้านบาทของมูลค่าการลงทุน และส่วนที่เหลือจะเป็นกระแสเงินสดภายในบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะสูงถึง 60% ในระยะก่อสร้างโครงการ SOE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ