อนึ่ง SNC ร่วมลงนามกับบริษัท FUSO Industries ของญี่ปุ่นเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตชิ้นส่วนทองแดงชิ้นส่วนโลหะ ช้อนส่วนทองเหลือง ชิ้นส่วนอะลูมิเนียมหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Atlantic SFDT JSC แห่งฝรั่งเศส จัดตั้งบริษัทแห่งใหม่เพื่อประกอบกิจการผลิตเครื่องทำน้ำร้อน
นายสมชาย งามกิจเจริญลาภ กรรมการผู้จัดการ SNC เปิดเผยว่า กำไรปี 56 จะใกล้เคียงกลับปีก่อนที่อยู่ในระดับ 493 ล้านบาท จากที่กำลังซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของลูกค้าลดลง โดยลูกค้าส่วนใหญ่นำเงินไปซื้อรถยนตร์คันแรก รวมถึงยอดขายโดยรวมและส่งออกของประเทศลดลง ประกอบกับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ซึ่งทำให้ผู้ผลิตบางรายได้ปิดตัวลงไป
ส่วนปี 57 คาดว่ากำไรจะเติบโตมากกว่าปีนี้ โดยจะเน้นการดำเนินงานที่ให้ผลกำไรดี และจะมีการใช้งบลงทุน 200 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในบริษัทย่อย 150 ล้านบาท และอีก 50 ล้านบาทลงทุนใน TOP TECH รวมถึงจะมุ่งเน้นร่วมทุนกับบริษัท SME ประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งมองว่าญี่ปุ่นมีดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีการเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างมาก ซึ่งน่าจะให้ผลกำไรที่ดีต่อบริษัทได้ และเชื่อว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในปี 57 ส่งผลให้ในปี 58 จะเห็นถึงผลประกอบการที่ชัดเจนขึ้น
"ปี 57 กำไรน่าจะดีกว่าปี 56 ซึ่งเราได้มีการพัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น และมีการพัฒนาคนเพื่อมารองรับในการผลิตสินค้าให้กับบริษัท โดยได้ร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะ ทั้งนี้การแข่งขันในปีหน้ามองว่าจะสูงขึ้น เรามีความคิดที่จะร่วมทุนกับ SME ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีต้นทุนที่ถูก ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวแทนไปเชิญญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัท ซึ่งมี 2-3 รายที่จะชวนเข้าร่วม ที่มียอดขาย 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจะร่วมทุนกับบริษัท SME ไทยด้วย มองว่าไทยมีประสิทธิภาพของพนักงานที่เก่ง ที่จะช่วยพัฒนากำไรได้ดีขึ้น"
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังกังวลในปี 57 คือ เรื่องของแรงงานที่จะมาผลิตสินค้า ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนแรงงานในส่วนของผู้ที่จบสายอาชีพโดยตรง ทางบริษัทจึงมีนโยบายที่จะลดแรงงานลงและเปลี่ยนมาเป็นสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยในปีหน้าและถัดไปอีก 3 ปีข้างหน้าสินค้าหลักของบริษัทจะเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม