"ปีนี้เดิมปกติจะ growth 10% เป็น 14,000 ล้านบาท แต่คงไม่ถึงแล้ว น่าจะได้แค่ใกล้เคียงกับปีก่อน หรือลดลงเล็กน้อย"นายสุรพร กล่าว
เช่นเดียวกับกำไรในปีนี้ที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนตามยอดขายที่ลดลง ประกอบกับ บริษัทได้รับผลกระทบด้านค่าแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนพนักงานสูงขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าและผันผวนมากในช่วงต้นปีก็ส่งผลลบต่อบริษัทด้วยเช่นกัน
"ในส่วนของกำไรก็จะลดลงเพราะหากธุรกิจไม่มีการ growth เลยแถมยังถดถอย ขณะที่ค่าใช้จ่ายปรับขึ้นโดยเฉพาะเงินเดือนพนักงานก็ปรับขึ้นและปีนี้ขึ้นผิดปกติ พอค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 400% ทุกอย่างปรับขึ้นเงินเดือนเดิมของพนักงานก็ถูกผลักดันให้ต้องปรับขึ้นด้วย กำไรยากมากเพราะขายน้อยลงแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น"นายสุรพร กล่าว
ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้น(Gross margin)ในปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าระดับปกติที่ 10% เพราะครึ่งแรกขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และอัตรากำไรสุทธิ(Net margin)น่าจะลดลงเหลือ 3% จากปกติ 5% เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะไตรมาส 1/56 ที่ปกติเคยเป็นช่วง peak แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อว่าครึ่งปีหลังรายได้น่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรก หลังจากเงินบาทอ่อนค่าลงมาแถว 31 บาท/ดอลลาร์ จากครึ่งปีแรกอยู่ในระดับ 28.50 บาท/ดอลลาร์ น่าจะส่งผลดีทำให้รายได้และกำไรจากส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังน่าจะพลิกเป็นมีกำไรจากครึ่งปีแรกที่ขาดทุนราว 10 ล้านบาท
"ต้นปีเงินบาทแข็งค่ามาก เม.ย.อยู่แถว 28.50 บาทฯ ปัจจุบัน 31 บาทเศษฯ ทำให้รายได้จากส่งออกครึ่งหลังดีขึ้นมาช่วยได้บ้าง ในฐานะผู้ประกอบการอยากให้เงินบาทอยู่แถว 32-33 บาท น่าจะเหมาะสม ครึ่งหลังเชื่อผลประกอบการพลิกกำไร จากครึ่งแรกขาดทุน 10.90 ล้านบาท โดยไตรมาส 2 ขาดทุนถึง 169 ล้านบาท"นายสุรพร
*เป้าปี 57 คาดรายได้แตะ 15,000 ลบ.
นายสุรพร กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นแตะ 15,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานเงินบาทที่ 31-32 บาท/ดอลลาร์ น่าจะทำให้รายได้จากส่งออกก็เติบโตดีขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าของบริษัทเติบโตขึ้นทุกปีตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มเป็นกว่า 7 พันล้านคน
ขณะที่กำไรในปีหน้าก็น่าจะดีขึ้นตามรายได้ แม้ว่าค่าแรงจะเพิ่มขึ้น เพราะถึงแม้รัฐบาลไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่บริษัทก็มีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานทุกปีน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าบริษัทตั้งงบลงทุนตามปกติที่ 400 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรเท่านั้น ยังไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตรวมทั้งกลุ่มที่ 10 ล้านเครื่อง/ปี ยังใช้ไม่เต็มที่ทั้งคอมเพรซเซอร์ตู้เย็น ตู้แช่ และเครื่องปรับอากาศ ศักยภาพในการผลิตยังเพียงพอที่จะรองรับการขยายตลาดในอนาคต
"อุตสาหกรรมคอมเพรซเซอร์ไทยยังไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำอย่างจีน เยอะมากกว่า ค่าแรงก็ถูกกว่าเราด้วย ดังนั้น การแข่งขันในตลาดโลกจึงต้องอาศัยสินค้าคุณภาพเท่านั้น"นายสุรพร กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น 2 แห่ง คือ KKC และ บริษัท กุลธร พรีเมียร์(KKP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย กำลังการผลิตรวม 8 ล้านเครื่อง/ปี ส่วนคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศมีกำลังผลิต 2 ล้านเครื่อง/ปี รวมเป็น 10 ล้านเครื่อง/ปี ซึ่งโรงงานของบริษัททั้งที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ลาดกระบัง และ แปดริ้ว ยังผลิตสินค้าได้ตามปกติ น้ำไม่ท่วม