สำหรับโซลาร์ฟาร์มเฟส 3 มีกำลังการผลิตจำหน่ายรวม 48 เมกะวัตต์ โดยติดตั้งที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 16 เมกะวัตต์, อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 8 เมกะวัตต์, อ.หนองกี่ จ.นครราชสีมา 8 เมกะวัตต์, อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ 8 เมกะวัตต์ และ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 8 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน ต.ค.56 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้ประมาณไตรมาส 2/57
อย่างไรก็ตาม บางจากฯ เตรียมชะลอการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม หลังจากรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)แทน เนื่องจากบางจากฯ ไม่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโซลาร์รูฟท็อป และมองว่าผลตอบแทนการลงทุนเพียง 8% ซึ่งไม่คุ้มค่ากับนักลงทุนที่บางจากคาดหวังไว้มากกว่า11% ดังนั้นบางจากฯ จะหันไปศึกษาการลงทุนด้านก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปีย และการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมขนาดเล็กแทน แต่ต้องพิจารณาด้านความมั่นคงด้านนโยบายของรัฐและความมั่นคงด้านวัตถุดิบระยะยาวด้วย
ส่วนกรณีที่บริษัท ซันเทค จำกัด ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลรายใหญ่ของจีน และเป็นผู้ป้อนแผงโซลาร์เซลล์ให้บางจากฯ ในเฟส 1 และ 2 เกิดประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อโครงการโซลาร์เซลล์ของบางจากฯ เนื่องจากซันเทคกำลังฟื้นฟูธุรกิจและน่าจะสานต่อการดูแลรับประกันแผงโซลาร์เซลล์ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับโซลาร์ฟาร์มเฟส 3 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ บางจากฯ ได้ใช้แผงโซลาร์เซลล์จากบมจ. โซล่าร์ตรอน (SOLAR) และบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง(GUNKUL) แทน
นายวิเชียร กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุนของบางจากฯ ในปี 57 นั้น บางจากฯ มีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 12,900 ล้านบาท ใน 3 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น งบประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 61 ส่วนโครงการที่ 2 คือ การลงทุนโรงงานผลิตไบโอดีเซล แห่งที่ 2 งบลงทุนประมาณ 1,400 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 4.5 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 58 และโครงการที่ 3 โซล่าร์ฟาร์ม เฟส 3 ใช้งบลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี บางจากฯ มีความสามารถในการกู้ยืมได้ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนดี
ส่วนนโยบายที่กระทรวงพลังงานกำหนดให้จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลบี 7(น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) แทนน้ำมันไบโอดีเซลบี 5 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.57 นั้น บางจากฯ มั่นใจว่าจะสามารถหาวัตถุดิบรองรับการผลิตบี 7 ได้อย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะต้องหาซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (บี 100) เพื่อมาผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มอีก 1.7 แสนลิตร/วัน เนื่องจากปัจจุบันบางจากผลิตได้ 3.6 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งเพียงพอแค่การจำหน่ายไบโอดีเซลบี 5 เท่านั้น แต่หากโรงงานผลิตไบโอดีเซล แห่งที่ 2 สร้างเสร็จ จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 4.5 แสนลิตร/วัน และทำให้บางจากฯ มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 8.1 แสนลิตร/วัน ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับไบโอดีเซลบี 7 ได้แน่นอน