กสทช.เตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่มือถือรองรับหลังยอดใช้เพิ่มสูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 6, 2013 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน เพื่อเข้าถึง Social Network ที่มากขึ้น จะส่งผลให้ระยะ 5 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณและแนวโน้มการใช้ Bandwidth หรือการใช้ทรัพยากรสื่อสาร (คลื่นความถี่วิทยุ) ผ่านเครื่องอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟน เพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่า ภายในปี 2560 จึงคาดการณ์ว่าจะมีผลทำให้เกิดความแออัดของการใช้งานโครงข่ายที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และภายในระยะเวลา 2-3 ปีจากนี้ ปริมาณ แบนด์วิธ ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่พอเพียงที่จะให้บริการได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน มียอดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 90 ล้านเลขหมาย และมีสัดส่วนอัตราการใช้บริการสูงถึง 136.3 เลขหมายต่อประชากร 100 คน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตในลำดับต้นๆ ของโลก

สำหรับพฤติกรรมการใช้งาน Social Network ในประเทศไทยเป็นการใช้งานผ่านโทรศัพท์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ในสัดส่วนที่มากถึง 64% และ มีการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เพียง 36% โดยมีการเข้าถึงและการใช้งานผ่านโทรศัพท์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหรือ 85% คิดเป็นการเติบโตที่สูงเกือบ 2 เท่าตัวเปรียบเทียบจากปี 2555 ซึ่งการใช้บริการสื่อสารข้อมูลเฉพาะในระบบ W-CDMA / HSPA หรือ 3G ผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มากที่สุดได้แก่ บริการดาวน์โหลดวิดีโอและเพลงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการรับส่งข้อความที่แนบภาพหรือวิดีโอ (SMS MMS) การเข้าชมเว็บไซต์ (Website Browsing) และการใช้ Social Media เช่น Facebook, Twitter, Google+, Instagram, LINE และ WhatsApp ฯลฯ รวมกันเกือบร้อยละ 80 ของบริการที่มิใช่ทางเสียงทั้งหมด

สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะทำให้ต้องเร่งรัดในการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อนำคลื่นความถี่ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ เพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้งานของประชาชนผู้บริโภคในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าและในอนาคต รวมถึงเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ของประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ในส่วนผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ทรูมูฟ จำกัด กับบมจ. กสท โทรคมนาคม และระหว่างบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด กับบมจ. กสท โทรคมนาคม เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อความหนาแน่นของการใช้งานโครงข่ายในปัจจุบัน เนื่องจาก กสทช. ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1 GHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz หรือ 3G ใหม่ 3 ราย แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ทำให้มีแบรนด์วิธเพียงพอที่จะรองรับการใช้บริการ

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับในปี 2558 และปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่สัญญาสัมปทานของ AIS และ DTAC จะสิ้นสุดลงตามลำดับนั้น จะทำให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 รายคือ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท โทรคมนาคม บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ