RATCH มั่นใจปี56 กำไรสุทธิ 6 พันลบ.ตามเป้า ปี 57 อาจใกล้เคียงหรือต่ำเล็กน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 11, 2013 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) กล่าวว่า บริษัทเชื่อมั่นว่ากำไรสุทธิปีนี้จะได้ตามเป้าหมายที่คาดว่าจะอยู่ที่ 6 พันล้านบาท แม้ว่าในเดือนธ.ค.นี้จะหยุดซ่อมบำรุงตามแผนจำนวน 3 โรง จะร่นเวลาให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันกับช่วงเวลาที่ทางพม่าจะหยุดส่งก๊าซในช่วงวันที่ 25 ธ.ค. 56-8 ม.ค.57 ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทสามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาได้

ส่วนในปี 57 คาดว่ากำไรสุทธิอาจจะใกล้เคียงปีนี้ หรืออาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย เพราะไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปรับสัดส่วนรับรู้รายได้ลง แต่ตั้งแต่ปี 58 คาดว่ากำไรสุทธิจะกลับมาดีขึ้นหลังจากที่กำลังการผลิตใหม่เริ่มเข้ามา โดยโรงไฟฟ้าหงสาในสปป.ลาวจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ส.ค. 58 ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ (สัดส่วนถือหุ้น 40%)

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่าบริษัทไม่ได้เข้ายื่นซื้อกิจการโรงไฟฟ้าแมควารี่ในออสเตรเลียเมื่อ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้โรงไฟฟ้าแมคควอรี่เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปให้กับเอกชน โดยมีกำลังการผลิต 4,600 เมกะวัตต์ เนื่องจากบริษัทไม่สามารถหาพันะมิตรเข้าร่วมประมูลได้ หลังคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัทลงทุนได้ไม่เกิน 30% อย่างไรก็ดีได้มีการพูดคุยกับ 3 กลุ่มที่ยื่นประมูลคาดหวังเข้าร่วมเป็นพันธมิตรได้

นอกจากนี้ บริษัทได้มองหาโอกาสเข้าลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม Collector Wind Farm ขนาดกำลังการผลิต 80-100 เมกะวัตตต์ เงินลงทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนอีกแห่งโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mount Emperal ขนาดกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1/57

รวมทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV) ในออสเตรเลียขนาดกำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตปีนี้และเริ่มก่อสร้างใด้ในไตรมาส 1/57 พร้อมข้อสรุปทางการเงิน

"เราได้สิทธิศึกษาโครงการพลังงานลม 15 แห่ง ซึ่งออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีพลังงานลมดีมาก ดีกว่า 2 เท่าของไทย เราอยู่ระหว่างศึกษาจะพัฒนา 2 โครงการ" นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

ทั้งนี้ ได้ตั้งงบลงทุนในปี 57 ประมาณ 9 พันล้านบาทใช้กับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาโครงการจำนวน 6 โครงการ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญีปุ่น ทั้งหมด 3 โครงการ รวมกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ โดยบริษัทถือหุ้น 50% คาดใช้เงินลงทุน 700-800 ล้านบาท โดยภายในพ.ย.นี้น่าจะได้ข้อสรุปดีลดิลิเจนท์ และคาดในไตรมาส 1/57 จะมีความชัดเจน แต่ยังไม่รวมโครงการในออสเตรเลีย

โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาโครงการ 6 โครงการ ได้แก่ โครงการไฟฟ้าราชบุรีเวอลด์โคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 210 เมกะวัตต์(สัดส่วนถือหุ้น 40%) โครงการโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้านวนคร กำลังผลิต 122 เมกะวัตต์ (สัดส่วนถือหุ้น 40%) โครงการผลิตไฟฟ้าลมเขาค้อ กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ (สัดส่วนการถือหุ้น 55%) โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลสงขลา กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ (สัดส่วนถือหุ้น 40%) โรงไฟฟ้าหงสา กำลังผลิต 1,878 เมกะวัตต์ (สัดส่วนถือหุ้น 40%) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย กำลังผบิต 410 เมกะวัตต์ (สัดส่วนถือหุ้น 25%)

*ปรับกลยุทธ์ รุกตลาดใหม่

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างปรับแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งแผนธุรกิจฉบับใหม่จะนำเสนอคณะกรรมการรอบที่ 2 ในเดือนพ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ข้อยุติในเดือนธ.ค.นี้ โดยแผนธุรกิจใหม่บริษัทจะขยายพอร์ตการลงทุนโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน จากเดิมที่วางเป้าหมายไว้ที่ 7,800 เมกะวัตต์ในปี 59 โดยปัจจุบันมีกำลังผลิต 6,303 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขยายทั้งการพัฒนาโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ หรือหุ้นของกิจการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะจัดการทรัพยสินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และวางเป้าหมายเป็นผู้นำผลิตไฟฟ้าครบวงจรในเอเชียแปซิฟิค รวมทั้งจะขยายธุรกิจต้นน้ำ หรือหาแหล่งเชื้อเพลิง และปลายน้ำเป็นผุ้ขายปลีก

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจในตลาดใหม่ ได้แก่ ปากีสถานและบังคลาเทศ ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าสูง โดยจะเข้าไปทั้งซื้อกิจการ (M&A) และเข้าไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอง โดยตลาดดังกล่าวไม่ค่อยมีโรงไฟฟ้า แต่คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาพอสมควร ซึ่งยังมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและสัญญา ถ้าปิดความเสี่ยงปิดได้อัตราผลตอบแทนก็จะสูง

บริษัทได้วางเป้าหมายจะขยายธุรกิจไปที่พม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสและศักยภาพของตลาดเหล่านี้แล้ว และเห็นว่าความเป็นไปได้ในการลงทุนยังมีอยู่มาก โดยในพม่า อินโดนีเซีย เวียนาม มีโอกาสที่จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังน้ำ ส่วนฟิลิปปินส์การลงทุนในลักษณะการเข้าซื้อกิจการมีความน่าสนใจมาก จากปัจจุบันที่บริษัทขยายฐานธุรกิจในไทย ลาว และออสเตรเลีย

"จริงๆ เราต้องการในลาวและพม่ามากกว่า เรามีความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะอยู่ใกล้ประเทศไทย ซึ่งภายใต้ความเป็นกลุ่ม กฟผ.ผู้ถือหุ้นก็ต้องการให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ ส่วนที่อื่นถ้าได้มาเป็นการได้ผลตอบแทนเสริมเข้ามา...ถ้าลงทุนมากเงินลงทุนคงไม่พอ ก็คงเพิ่มทุน ซึ่งปกติเราตั้งงบลงทุนปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท แต่แผนใหม่น่าจะใช้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อาจจะใข้ 1.5-2 หมื่นล้านบาท"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ