(เพิ่มเติม) "อิชิตัน"คาดเคาะราคาขายหุ้น IPO 22 พ.ย.หวังเข้าเทรด 11 ธ.ค.ตามเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 11, 2013 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป(ICHI)คาดว่าจะสามารถกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ภายในวันที่ 22 พ.ย.นี้ โดยยังหวังว่าจะนำหุ้นเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในวันที่ 11 ธ.ค.56 ตามเป้าหมาย เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายกิจการ ซึ่งบริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 57 เติบโต 20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำยอดขายได้ 6 พันล้านบาท และใน 5 ปียอดขายจะพุ่งแตะ 1 หมื่นล้านบาทตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
"เรายังมั่นใจว่าเราจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันเดิมที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เรามองว่าการเมืองก็น่าจะไม่ยืดเยื้อ น่าจะจบภายใน 2-3 วันนี้ แต่อย่างไรก็ตามหากมีเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อ เราก็ยังสามารถเลื่อนวันได้ ซึ่งก็ยังต้องมีการติดตามสถานการอย่างต่อเนื่อง สำหรับคนที่มีคำถามว่าจะขายหุ้นของตัวเองออกมาหรือไม่นั้น เราบอกไว้เลยว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะเราก็มีเงินอยู่ และอิชิตันก็จะเป็นชาเขียวสุดท้ายสำหรับเรา"นายตัน กล่าว

ขณะเดียวกันคาดว่าการระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO ในครั้งนี้จะได้เงินเข้ามาราว 4-5 พันล้านบาท วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้เพื่อจะนำเงินที่ได้ไปขยายกำลังการผลิตในเฟส 2 ชำระหนี้สถาบันการเงิน ชำระเงินกู้ยืมกรรมการ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ของบริษัทหลังการเข้าจดทะเบียนจะลดลงเหลือต่ำกว่า 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 เท่า ขณะที่บริษัทยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

นายตัน กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 57 เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดขาย 6 พันล้านบาท จากปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเฟส 2 ที่ใช้เงินลงทุนไปราว 2,550 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2/57 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านขวด/ปี ทำให้กำลังการผลิตรวมสูงขึ้นเป็น 1 พันล้านขวด/ปี โดยประเมินว่าการเพิ่มกำลังการผลิตครั้งนี้จะสามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี จากสัดส่วนการส่งออก 1% และในประเทศ 99%

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการจ้างผลิต(OEM) ราว 25% หลังจากที่โรงงานเฟส 2 สร้างเสร็จแล้วจะทำให้สัดส่วน OEM ของบริษัทในปีหน้าลดลงต่ำกว่า 10% จากเป้าหมายที่จะลดลงเหลือ 5% ซึ่งหลังจากลดสัดส่วนของ OEM ลงจะทำให้กำไรของบริษัทในปี 57 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับยอดขายที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยในปีนี้คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวขึ้นไปเป็น 35% จากครึ่งปีแรกที่ระดับ 31% "ขณะที่กำลังการผลิตของบริษัทที่ 1 พันล้านขวด/ปี คาดว่าจะสามารถรองรับได้ราว 5 ปี นอกจากนี้ในเฟส 2 ยังสามารถเพิ่มไลน์ผลิตชาเขียวชนิดขวดได้อีก 2 ไลน์การผลิต โดยคาดว่าจะใช้เงินเพิ่มอีกราว 2 พันล้านบาท ซึ่งอีก 2 ไลน์การผลิตจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตชาเขียวชนิดขวด ได้อีก 400 ล้านขวด/ปี"นายตัน กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ