อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปีหน้ายังคงต้องเผชิญกับโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) ต่อไป แต่คงจะมีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากผู้เลี้ยงกุ้งเริ่มสามารถปรับตัว อัตราการรอดของลูกกุ้งมีมากขึ้น จึงทำให้ผู้เลี้ยงมีความมั่นใจที่จะลงกุ้งมากขึ้น ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน บริษัทก็ต้องดูแลธุรกิจในทุกส่วนให้มีความรัดกุมขึ้น โดยมุ่งเน้นความสามารถการทำกำไรอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าจากกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้การดำเนินธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคง นโยบายการบริหารงานของเรา คือ เน้นการพัฒนางานทุกส่วนในหน่วยธุรกิจของเรา รวมถึงการใช้ทรัพยากรทางการผลิตอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ เพื่อรองรับการเติบโตขององค์กรในอนาคตต่อไป
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถือว่าเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุดในรอบ 25 ปีตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ปัจจัยเรื่องโรคระบาด EMS ที่เกิดกับกุ้ง ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่ผันผวนรุนแรง และค่าเงินบาท ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน จึงมีผลต่อการทำกำไรสุทธิใน 2 ไตรมาสแรก แต่ในช่วงไตรมาส 3 นี้กำไรสุทธิกลับมาดีเกินคาดเพิ่มขึ้น 180% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา นั่นก็เพราะการบริหารจัดการภายในที่เพิ่มความรัดกุมมากขึ้น โดยเน้นการจัดการด้านทรัพยากรการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกส่วนของการผลิต"นายธีรพงศ์ กล่าว
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหารทะเล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพราะแนวโน้มสินค้าประเภทนี้มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในตลาด ซึ่งเรามีการดำเนินการอยู่แล้วโดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันกับทีมงานในต่างประเทศ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวเห็นผลได้อย่างชัดเจนจากตัวเลขอัตราการทำกำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้เท่ากับ 14% ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่เท่ากับ 12%
มองจากภาพรวมแล้วไตรมาสนี้ บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้วเช่นกัน แต่ถ้าพิจารณาจากภาพรวมผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐและรูปเงินบาทมีการเติบโตขึ้น 4% และ 2% ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิลดลง เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อน
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักสำคัญมาจากราคาวัตถุดิบกุ้งและปลาทูน่าที่เกิดขึ้นในปีครึ่งปีแรก และถึงแม้ว่าความท้าทายจากปัจจัยด้านวัตถุดิบกุ้งยังคงส่งผลอยู่ในไตรมาสนี้ ผลผลิตกุ้งยังคงไม่เพียงพอต่อภาคการผลิต แต่ขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ส่วนวัตถุดิบปลาทูน่าที่มีความผันผวนอย่างมากด้านราคาในช่วงครึ่งปีแรก เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 นี้ จึงมั่นใจว่า ธุรกิจผลิตเพื่อการส่งออกจะดีขึ้นจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจที่ดีขึ้น และจะกลับมาซื้อปกติในไตรมาสต่อไป
บริษัทรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/56 ว่ายอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐและเงินบาทยังมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 936 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 907 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 29,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ 28,327 ล้านบาท
ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาสนี้บริษัทฯ สามารถทำได้เท่ากับ 1,004 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายไตรมาสจะพบว่า กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 180% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 359 ล้านบาท ซึ่งถือว่าทำได้ดีเกินคาดกว่า 2 ไตรมาสที่แล้ว แม้ว่ายังต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆ ยังต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมสัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ เมื่อแบ่งตามผลิตภัณฑ์หลัก 6 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจปลาทูน่า มีสัดส่วนรายได้เท่ากับ 49% กลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง 24% กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล 6% กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน 4% กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 7% และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 10% ขณะที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทโดยแบ่งตามตลาดมีดังนี้ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 40% สหภาพยุโรป 30% ขายในประเทศ 7% ญี่ปุ่น 8% และประเทศอื่นๆ 15%