พร้อมกันนั้น ผู้ว่าการ รฟม.เห็นด้วยที่ BMCL เปลี่ยนการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด 8,550 ล้านหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม(Right Offering) จากเดิมที่จัดสรรให้เพียง 2,000 ล้านหุ้น เพราะรฟม.สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน อย่างน้อยสามารถรักษาสัดส่วนถือหุ้นเดิมไว้ที่ 25% และทำให้ รฟม.ยังมีบทบาทในคณะกรรมการ BMCL และที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ในรูปแบบเดิมสัดส่วนหุ้นของ รฟม.จะลดลงทันทีมาที่ 14% จากผล Dilution effect และหากซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามที่จัดสรรจะเพิ่มสัดส่วนมาเป็นเพียง 17% ซึ่งแนวทางเดิม รฟม.ไม่มีทางเลือก
"หลักการ Right Offering ดีกว่าอยู่แล้วเปลี่ยนมาเป็นอย่างนี้ดีกว่าเราก็เคยเสนอเขาแล้วแต่ไม่เปลี่ยนแต่ตอนหลังมาเปลี่ยน เราเคยเสนอเป็นไอเดียว่า ดีต่อเรามากกว่า ต่อภาพรวม คือให้สิทธิผู้ถือหุ้นทุกคนก่อน เขาควรจะคิดแต่ต้น...เราลงทุนเป็นแสนล้าน เงิน 2 พันล้านที่จะลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ประเด็นคือเป็นเรื่องของหลักการ นโยบาย และยุทธศาสตร์การกำกับดูแลและการลงทุน ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐด้วย ก็ต้องฟังเสียงทุกฝ่าย"นายยงสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ การที่ รฟม.จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน BMCL เพื่อต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ โดย BMCL เป็นผู้ได้รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน เส้นทางในปัจจุบัน และอนาคตจะได้รับสัมปทานการเดินรถในสายต่อไปก็นับว่าเป็นยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ก็จะพิจารณาในมุมของผู้กำกับดูแลด้วย แม้ว่าที่ผ่านมา BMCL จะประสบผลขาดทุน แต่ก็เป็นเพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆล่าช้า โดย รฟม.จะใช้เงินเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน BMCL ประมาณกว่า 2 พันล้านบาท หากใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ ซึ่ง BMCL จะเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในระหว่างวันที่ 9-16 ธ.ค. 56