ทั้งนี้ อันดับเครดิต “A-" ยังคงสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากลักษณะที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งทางธุรกิจและสัดส่วนรายได้ประจำที่เพิ่มขึ้น โดยอันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถคงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับประมาณ 50% เอาไว้ได้ แม้บริษัทจะมีการลงทุนจำนวนมากตามแผน สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทลงในอนาคต
บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ เดือนเมษายน 2556 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 18.06% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังได้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าหลายโครงการ ในช่วงปี 2553-2555 รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 60%-70% ของรายได้รวม ส่วนรายได้ที่เหลือ 30%-40% เป็นรายได้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน
บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 39,109 ไร่ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 605 ราย ซึ่ง 35% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 14% เป็นลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 7,526 ไร่ โดยประมาณ 75% อยู่ในจังหวัดระยอง
ในปี 2555 บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้เป็นประวัติการณ์ โดยขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 2,317 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 1,670 ไร่ในปี 2554 ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 9,528 ไร่ในปี 2555 จาก 5,757 ไร่ในปี 2554 ส่วนแบ่งทางการตลาดในการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดย CBRE รายงานว่าบริษัทขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้มากเป็นอันดับหนึ่งในปี 2551 และปี 2554 ส่วนแบ่งทางการตลาดในการขายที่ดินของบริษัทในระหว่างปี 2551-2555 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 26% ของจำนวนการขายทั้งหมดของที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในขณะที่บริษัทที่ขายที่ดินจำนวนมากในอันดับต้น ๆ อีกรายหนึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 27% ในช่วงเดียวกัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทสามารถขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ 1,978 ไร่ ถือว่ามากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในช่วงดังกล่าว
รายได้ประจำของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากการขายสาธารณูปโภคและค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้น 26.0% จากปี 2554 เป็น 2,170 ล้านบาทในปี 2555 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้ประจำยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 20.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1,912 ล้านบาท
ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตคือจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายกำลังการผลิตของลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรม รายได้จากการขายสาธารณูปโภคซึ่งคิดเป็น 60%-67% ของรายได้ประจำเพิ่มขึ้น 19.7% ในปี 2555 เป็น 1,391 ล้านบาทและยังคงเพิ่มขึ้นอีก 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1,174 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้จากธุรกิจโรงงานให้เช่าซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20%-25% ของรายได้ประจำก็มีการเติบโตที่ดี โดยพื้นที่เช่าในปี 2555 เพิ่มขึ้น 76,771 ตารางเมตร (ตร.ม.) เติบโต 48.3% เมื่อเทียบกับปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 48,476 ตร.ม. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 20.6% เมื่อเทียบจากพื้นที่เช่าในช่วงสิ้นปี 2555 ในระหว่างปี 2555 บริษัทได้ขยายธุรกิจให้เช่าโดยการพัฒนาคลังสินค้าให้เช่าใกล้บริเวณอีสเทอร์นซีบอร์ดและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง บริษัทให้เช่าคลังสินค้ารวมจำนวน 72,145 ตร.ม. ณ เดือนกันยายน 2556
รายได้รวมของบริษัทในปี 2555 เพิ่มขึ้น 54% เป็น 6,399 ล้านบาท จาก 4,150 ล้านบาทในปี 2554 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นถึง 91% เป็น 3,054 ล้านบาทในปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากการขายและโอนที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากในปี 2555 นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ประจำ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกน้ำท่วมที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปลายปี 2554 อัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 46% ในปี 2555 จากระดับปกติที่ 42%-44% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวสูงขึ้นเป็น 37.9% ในปี 2555 จากระดับ 29%-33% ในปี 2552-2554 การเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ของ บริษัท เก็คโค่วัน จำกัด (GHECO-One) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่บริษัทร่วมลงทุนยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของ EBITDA ของบริษัทในปี 2555 GHECO-One ให้ผลกำไรตามวิธีส่วนได้เสียรวมจำนวน 485 ล้านบาทในปี 2555 (ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 36.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 6,320 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 41.1% จาก 37.9% ในปี 2555 ปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นคืออัตรากำไรจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น EBITDA ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีจำนวน 3,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ GHECO-One ให้กำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 461 ล้านบาท (ไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้) โครงสร้างรายได้ของบริษัทแข็งแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักของบริษัทก็ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดี ปัจจุบันกำไรที่สม่ำเสมอจากการให้บริการสาธารณูปโภคและการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 40%-50% ของ EBITDA รวม
ภาระหนี้ของบริษัทสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2553 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 51.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 จาก 32.4% ในปี 2552 อันเป็นผลจากการกู้ยืมเพื่อการลงทุนใน GHECO-One ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 660 เมกะวัตต์ แม้ว่าหนี้เงินกู้จะเพิ่มขึ้น แต่สภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (Interest Coverage Ratio) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 6.8 เท่าในปี 2555 และ 6.7 เท่าใน 9 เดือนแรกของปี 2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับที่ดีเช่นกันที่ 17.4% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ในระหว่างปี 2556-2557 บริษัทมีแผนลงทุนจำนวนมากรวมมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยประกอบด้วย การพัฒนาที่ดินใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม การขยายธุรกิจโรงงานให้เช่า และการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะขายโรงงานให้เช่าเพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัท