ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 56 ปตท.มีกำไรสุทธิ 7.9 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่างวด 9 เดือนของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 4/56 คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 4/55 แม้ว่าจะเป็นช่วงความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงตามฤดูกาล แต่บริษัทลูกของกลับมีผลงานดีขึ้น ได้แก่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีก็ดีขึ้น ทำให้ค่าการกลั่นรวม(GIM)ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลก หากปรับลดลงก็อาจจะเกิดผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน แต่ ปตท.ก็ยังคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในระดับ 105-106 เหรียญ/บาร์เรล และในระยะนี้ราคายังค่อนข้างนิ่ง โดยน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 105 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้น ผลประกอบการก็ไม่น่าจะออกมาหวือหวามากนัก
นายสุรงค์ กล่าวอีกว่า ปตท.คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซในช่วง 5 ปี (56-60) จะเติบโตปีละ 4.1% ซึ่งในช่วง 5 ปีนี้จะมีความต้องการเติบโตเป็นเท่าตัว และ ปตท.ก็ยังต้องมีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซ NGV และ LPG ต่อไป
"ถ้าวัดผลประกอบการจริงๆต้องถอดเรื่อง subsidy...ปตท.ควรมี performance ของเราเอง 40-50% แต่ตอนนี้เราลดไปเหลือ 30% ธุรกิจวันนี้ถ้าวัดฝีมือวัดยาก"นายสุรงค์ กล่าว
ส่วนธุรกิจถ่านหินที่กลุ่ม ปตท.เพิ่งเข้าลงทุน นายสุรงค์ กล่าวว่า ปตท.ยังมองหาแหล่งถ่านหินลงทุนเพิ่มในบรูไน มาดากัสการ์ โมซัมบิก และพม่า จากปัจจุบันมีเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย 2 แห่ง คือ Sebuku และ Jembayan รวมกำลังการผลิต 9 ล้านตัน ราคาขายเฉลี่ย 74 เหรียญ/ตัน โดยมีต้นทุนการผลิตกว่า 50 เหรียญ/ตัน ทั้งนี้ทั้ง 2 เหมืองมีปริมาณสำรองถ่านหินรวม 170 ล้านตัน
นายสุรงค์ กล่าวว่า ช่วงนี้ ปตท.ต้องปรับโครงสร้างภายในให้เกิดประสิทธิภาพเสียก่อนรวมทั้งลดต้นทุนทางการเงิน จึงค่อยหาโอกาสลงทุนเหมืองถ่านหินเพิ่ม จากที่มองว่าปีนี้ราคาถ่านหินน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว