ทั้งนี้ ประเมินว่านักลงทุนให้ความสนใจจองหุ้น IPO เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่แสดงความต้องการจองซื้อ (Book Building) เข้ามาสูงถึง 13 เท่าของจำนวนหุ้นที่จัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบัน มาจากปัจจัยพื้นฐานของ NYT ที่มีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้ารถยนต์ (Roll-on/Roll-off: Ro/Ro) แบบครบวงจร ณ ท่าเทียบเรือ A5 ในท่าเรือแหลงฉบัง ซึ่ง NYT ถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดของไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณรถยนต์ส่งออกทั้งหมดของประเทศไทยในแต่ละปี ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจ ในอนาคต
“จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่ยังมีอีกมากของ NYT ตลอดจนกระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากทั้งในช่วงการสำรวจความต้องการจองซื้อ (Book Building) และในช่วงการจองซื้อหุ้น จึงเชื่อมั่นว่าเมื่อหุ้น NYT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน" นายธนะชัย กล่าว
ด้านนายเทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NYT กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้ารถยนต์ (Ro/Ro) รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและของอาเซียนที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกที่ตั้งฐานการผลิตในไทย และสายเดินเรือระดับโลกที่ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์ระหว่างประเทศให้ความไว้วางใจใช้บริการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญและการให้บริการที่ครบวงจรและทันสมัยในระดับ World-Class โดยมีการนำเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาช่วยบริหารการจัดการส่งออกรถยนต์ในบริเวณท่าเทียบเรือ A5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น บริษัทยังร่วมกับกลุ่มบริษัท NYK ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นและเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลชั้นนำของโลก เข้าลงทุนในบริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล โร-โร เทอร์มินัล จำกัด หรือ LRT ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้ารถยนต์และสินค้าทั่วไป ณ ท่าเทียบเรือ C0 ท่าเรือแหลมฉบัง โดยบริษัทฯ ถือหุ้น LRT ในสัดส่วนร้อยละ 20 และมีสิทธิ (Option) ที่จะซื้อหุ้น LRT เพิ่มเติมจาก NYK ได้อีกไม่เกินร้อยละ 29 รวมเป็นสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุดร้อยละ 49
ทั้งนี้ จากแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 55-59 ที่จัดทำโดย สถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่า ปริมาณรถยนต์ที่ผลิตจากผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายรวมกันจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคันต่อปีภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่ผลิตอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคัน ซึ่งในภาวะปกติแล้ว ความต้องการรถยนต์ภายในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสน ถึง 1 ล้าน คันต่อปี ในขณะที่รถยนต์ที่ผลิตขึ้นเกินกว่าความต้องการภายในประเทศจะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้นการส่งออกรถยนต์ของไทยจึงยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ซึ่งก็จะส่งผลดีโดยตรงต่อธุรกิจและผลประกอบการของบริษัทซึ่งเป็นท่าเทียบเรือหลักในการส่งออกรถยนต์ประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 80 โดยมีจำนวนรถยนต์ผ่านท่า A5 ของบริษัท เมื่อปี 55 มากถึงประมาณ 9 แสนคัน
สำหรับเงินที่ได้จากระดมทุนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปชำระเงินกู้ธนาคารเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ที่เหลือจะนำไปใช้ลงทุนขยายกิจการและเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการให้บริการ รองรับปริมาณส่งออกรถยนต์ที่คาดว่าภายในอีก 2 ปีข้างหน้าจะส่งออกถึง 1.5 ล้านคัน รั้งอันดับหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางธุรกิจของบริษัท