และอีก 10% ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Property Fund ที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากมองว่าการที่ซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์มีปริมาณจำกัดจะทำให้ระดับราคาในอนาคตเพิ่มมากขึ้นตามดีมานด์จากทั้งนักลงทุนในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ต้องการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในสิงค์โปร์
ในส่วนที่เหลือ 40% เป็นการลงทุนสินทรัพย์ในประเทศไทย ให้น้ำหนักการลงทุนที่ 30% ของพอร์ต ประเมินการเคลื่อนไหวของดัชนีปี 57 อยู่ที่ 1,450-1,690 จุด คาดว่าช่วงครึ่งปีแรกมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,690 จุด แม้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงปัจจัยการลด QE และนโยบายการเงิน ก่อนที่สถานการณ์จะมีแรงกดดันมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และส่งผลให้ดัชนีฯปรับตัวลงมาที่แนวรับ 1,450 จุดได้
ปัจจัยกดดันการลงทุนในระยะต่อจากนี้ ได้แก่ 1. ถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตลาดการเงินโลกมีความอ่อนไหวในปัจจัยนี้สูง นอกเหนือจากเรื่อง QE และจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเข้าออกของเงินทุนในโลกอย่างมีนัยสำคัญ
2.ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีแรงกดดันจากปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางขยับขึ้นไปที่ 3.5-4% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ 1.5-2% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้เยที่แท้จริงติดลบ หากยังคงนโยบายดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ดังนั้นธปท.อาจต้องยอมปรับดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวขึ้นไปให้สัมพันธ์กัน และจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและการกู้ยืมของบริษัทจดทะเบียนให้ขยับขึ้นตามไปด้วย
3.ประเด็นทาง การเมือง ด้านนโยบายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาขีดการแข่งขันของประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในส่วน บลจ.วรรณ ยังไม่เห็นภาพนโยบายดังกล่าวที่ชัดเจน จึงกังวลว่าจะทำให้การใช้จ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่ล่าช้าจะฉุดรั้งการลงทุนของภาคเอกชนให้ชะลอตัวออกไป และจะส่งผลต่อเนื่องมายังภาคการบริโภคในประเทศ การใช้จ่ายชะลอตัว สวนทางกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น
ส่วนการลงทุนในส่วนที่เหลืออีก 10% ของพอร์ต แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือลงทุนใน Property Fund เนื่องจากคาดว่าในปีหน้าการระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงต่ำในต้นปี 57
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะทยอยไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงต้นปี 57 โดยมูลค่าการไหลเข้าทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังคงต่ำกว่ามูลค่าการไหลออกรวมกันทั้งปีนี้ที่กว่า 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่เพียง 3.5-4% และความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่อาจล่าช้ากว่ากำหนด ประกอบกับประเด็นความกังวลต่อการยกเลิกมาตรการ QE ของสหรัฐ