บลจ.วรรณ มองหุ้นไทยปลายปีนี้ฟื้นแตะ 1,500 จุด ปี 57 ให้ 1,515-1,680 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 25, 2013 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปี 56 ปรับตัวไปตามกระแสข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลาการชะลอนโยบายการเงินเชิงปริมาณ(QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)และประเด็นด้านการเมืองในประเทศ เป็นหลัก อย่างไรก็ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นและท่าทีของนางเจเน็ต เยลแลน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งว่าที่ประธานเฟดคนใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.57 ได้สะท้อนถึงการดำเนินนโยบาย QE ต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ก็ทำให้คาดว่ากระแสเงินทุนน่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และส่งผลให้คาดว่า ดัชนี SET Index น่าจะมีโอกาสแตะที่ระดับ 1,500 จุดช่วงปลายปีนี้

สำหรับตลาดหุ้นไทยปี 57 คาดว่าจะมีโอกาสปรับตัวผันผวนมากขึ้น เนื่องจากอาจมีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าสู่ตลาดของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หลังจากที่กลุ่มประเทศดังกล่าวมีพัฒนาการของเศรษฐกิจที่เติบโตเด่นชัดกว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงยังมีโอกาสที่เฟดจะชะลอ QE ในครึ่งแรกของปี 57 ด้วย ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลง เนื่องจากอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มีโอกาสปรับลดลงจาก 17.4% ในปี 556 มาที่ 16.0% ในปี 57

ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงมีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มที่อาศัยการบริโภคภายในประเทศและกลุ่มที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการเข้าสู่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC-Linkage) และกลุ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี 57 ประเมินว่า SET Index น่าจะมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ในกรอบ 1,515-1,680 จุด ภายใต้ระดับราคาต่อหุ้น (P/E) ที่ 14.00-15.52 เท่า โดยมีค่ากลางที่ 1,595 จุด

นายวิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีนและญี่ปุ่น หลังจากที่ชะลอตัวลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ เศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจาก การส่งออกที่ยังไม่สามารถพลิกกลับมาฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนก็กลับชะลอลง หลังจากที่มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการบริโภคและการลงทุนเริ่มทยอยหมดลง

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนปี 57 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสเติบโตสูงค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะยูโรโซน และญี่ปุ่น หากเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ น่าจะอัดฉีดสภพคล่องลดลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยูโรโซน สวนทางกับไทยที่น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.0% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับที่น่าจะต่ำกว่า 4.0% เช่นกัน

ส่วนเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากการส่งออกยังต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวอีกช่วงเวลาหนึ่ง ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อน่าจะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากราคาพลังงานในประเทศที่ปรับขึ้นตามแผนการปรับโครงสร้างราคาสาธารณูปโภคและฐานที่ต่ำในปี 56 ซึ่งอาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ได้

นายวิน กล่าวอีกว่า จากมุมมองที่คาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วน่าจะมีโอกาสการขยายตัวที่เด่นชัดกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนบางส่วนไปที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มากขึ้น และจัดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระดับปานกลาง รวมทั้งลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุตราสารไม่เกิน 6 เดือน จากแนวโน้มที่ กนง. อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นตามในช่วงเวลานั้น

และแนะนำให้นักลงทุนให้ความสนใจกับตราสารหนี้ในประเทศมากกว่าต่างประเทศ เนื่องจากบางประเทศยังมีปริมาณการก่อหนี้ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไทย ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่น น้ำมัน น่าจะมีโอกาสปรับขึ้นในทิศทางที่จำกัดมากขึ้น เนื่องจากการผลิตจาก Shale Oil แม้จะมีความต้องการซื้อที่มากขึ้นก็ตาม โดยคาดว่าราคาน้ำมัน (WTI) น่าจะเคลื่อนไหวในระดับ 95-110 ดอลลาร์/บาร์เรล ในด้านทองคำคาดว่าน่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในกรอบแคบๆ ที่ประมาณ 1,200-1,400 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยการปรับขึ้นของราคาเป็นไปในทิศทางที่จำกัด ขณะที่การปรับลดลงก็น่าจะไม่มากนัก แม้เฟดจะปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบก็ตาม เนื่องจากระดับราคา 1,200 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ