ทั้งนี้ อันดับเครดิต “AA-" สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถของบริษัทในการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตลอดจนวินัยทางการเงินของบริษัทด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ตลอดจนภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2555 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 8% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาในด้านประเภทธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 91% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือในสัดส่วน 9% มาจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 82% ของ EBITDA ขณะที่กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 18% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556
ในปี 2555 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปู คิดเป็นจำนวน 43.1 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 28.5 ล้านตันและในประเทศออสเตรเลีย 14.6 ล้านตัน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 บริษัทผลิตถ่านหิน 31.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนกันยายน 2556 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 780 ล้านตัน ในขณะที่บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 572 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตนานราว 17 ปี
ในปี 2555 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลง ราคาขายถ่านหินของเหมืองที่ประเทศอินโดนีเซียลดลงเป็นลำดับในแต่ละไตรมาสเป็น 72.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จากที่ระดับสูงสุด 102.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 33.6% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 จากระดับ 48.2% ในไตรมาสแรกของปี 2555
อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของเหมืองที่อินโดนีเซียได้ฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 38.2% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จาก 33.6% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เนื่องจากความสำเร็จของแผนการลดต้นทุนต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาในปี 2556 ต้นทุนขายถ่านหินโดยเฉลี่ยของเหมืองอินโดนีเซียลดลงเป็น 45.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จากต้นทุนเฉลี่ย 51.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เหมืองที่ออสเตรเลียรายงานผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยของเหมืองที่ออสเตรเลียลดลงเหลือ 68.9 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 72.4 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันในปี 2555 นอกจากราคาถ่านหินที่ลดลงแล้ว Centennial Coal Co., Ltd. (CEY) ยังประสบกับปัญหาในการผลิตถ่านหินโดยใช้เวลาในการย้ายเครื่องจักรที่เหมือง Mandalong นานกว่าที่คาดและมีปัญหาในการขุดที่เหมือง Springvale ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ด้วย ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของ CEY ลดลงเหลือ 23.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 30.4% ในปี 2555
ผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจไฟฟ้ามีส่วนช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีนปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากต้นทุนถ่านหินลดลง อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นจาก 16.0% ในปี 2555 เป็น 26.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนมี EBITDA 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประสบผลขาดทุน
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นบริษัทถือหุ้น 50% ใน บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Ltd. -- BLCP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,434 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) BLCP นำส่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เทียบกับกำไร 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 40% ในโครงการหงสาซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,878 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว โครงการหงสาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 70% และโครงการระยะแรกจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2558
ราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลงทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับ 15.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จากเฉลี่ย 21.3% ในปี 2553-2555 EBITDA รวมของบริษัทลดลงเป็น 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ลดลง 34.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงไปด้วย โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเป็น 5.9 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ลดลงจากระดับเฉลี่ย 10.2 เท่าในระหว่างปี 2553-2555 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 7.8% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 17.0% ในระหว่างปี 2553-2555
แผนการลงทุนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทำให้อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 50.7% ณ เดือนกันยายน 2556 เทียบกับ 45.4% ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทได้ทยอยซื้อหุ้นคืนในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2556 โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index จะยังคงอ่อนแออยู่ในระดับประมาณ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2557 การฟื้นตัวของราคาถ่านหินยังคงไม่แน่นอนโดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตลอดจนการปรับลดการผลิตถ่านหินของผู้ผลิตหลัก
ในภาวะที่ราคาถ่านหินอ่อนแอ บริษัทได้ดำเนินงานอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินโดยการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น เลื่อนแผนการลงทุนบางโครงการ และลดค่าใช้จ่ายในทุกระดับขององค์กร ทำให้สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี ณ เดือนกันยายน 2556 บริษัทมีเงินสดในมือ 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินรวมจำนวน 587 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หากตั้งสมมติฐานว่าราคาถ่านหินยังคงอ่อนแออยู่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 650-750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสดในมืออีก 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนจำนวนประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีและการชำระคืนเงินกู้จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แผนการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องและการปรับเงื่อนไขสัญญาจำหน่ายถ่านหินสำหรับการขายในประเทศออสเตรเลียบางสัญญาในราคาที่สูงขึ้นโดยอ้างอิงตามราคาขายส่งออกของ CEY จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินมีความท้าทายในปัจจุบัน