นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่( Roll Over ) ของกองทุนเปิดกรุงไทย ประจำ 6 เดือน คุ้มครองเงินต้น 3 (KTFIX6M3) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2556 อายุ 6 เดือน เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในเงินฝาก บัตรเงินฝาก ในสัดส่วน 42% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.20%ต่อปี ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ และต้องการพักเงินในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนจากปัจจัยทางการเมือง เงินลงทุนในต่างประเทศมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี
ในช่วงเวลานี้ นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนประเภท RMF/LTF นับว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ปิดที่ 1,374.26 จุด และนับเป็นเดือนสุดท้ายสำหรับผู้ที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อลงทุนในกองทุน RMF/LTF สำหรับบลจ.กรุงไทย ขอแนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทย ซีเล็คทีฟ อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (KTSE-RMF)จุดเด่นของกองทุนนี้ คือ การบริหารกองทุนที่มีการบริหารจัดการแบบเชิงรุก (Active management) เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นรายตัวและมีการจัดสรรน้ำหนักการลงทุนให้มีความเฉพาะเจาะจง (Focus)
นอกเหนือจากหุ้นที่ต้องผ่านเกณฑ์ของปัจจัยพื้นฐานแล้ว ผลประกอบการที่ดี มีความสามารถในการทำกำไรแล้ว การจับจังหวะหรือการกำหนดระดับราคาในการเข้าลงทุนของผู้จัดการกองทุน ให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาก็เป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ย้อนหลัง 1ปี อยู่ที่ 13.84% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน AIMC อยู่ที่ 6.22%
กองทุน LTF ขอแนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว (KTLF)จุดเด่นของกองทุนนี้เป็นกองทุนที่จัดพอร์ตการลงทุนตาม Portfolio Model ซึ่งเกิดจากการพิจารณาร่วมกันของทีมผู้จัดการกองทุนเพื่อการกำหนดการลงทุนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม รวมไปถึงหุ้นที่เป็นหุ้นเด่นในแต่ละอุตสาหกรรมด้วย โดยการกระจายการลงทุนของกองทุน KTLF นี้จะมีลักษณะเป็น Enhanced Index โดยเลือกปรับลด/เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุนในช่วงนั้นๆ เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (SET Index) นอกจากนี้กองทุน KTLF ยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมออีกด้วย โดยผลตอบแทน ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 7.30% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน AIMC อยู่ที่ 6.22% ย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 35.00% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน AIMC อยู่ที่ 33.35%
ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตามองในปี 2557 ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อความรุนแรงทางการเมืองซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ความกังวลของการลดทอนวงเงิน QE จะกลับมา ซึ่งอาจจะมีผลต่อการไหลออกของเงินทุน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วช้ากว่าที่คาดการณ์ หรืออาจจะมีปัญหาวิกฤตรอบใหม่เกิดขึ้นมาอีกโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือผ่านแต่การดำเนินโครงการต่างๆมีความล่าช้า ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย