นายฮานุง บุดยา รองกรรมการผู้จัดการ เปอร์ตามีน่า กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาสถานที่ตั้งโรงงานปิโตรเคมี เบื้องต้นมองไว้ที่ Plaju ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกลั่นของเปอร์ตามีน่าที่มีกำลังการผลิต 1.25 แสนบาร์เรล/วัน
สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่ร่วมทุนกันดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุน ประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังการผลิตเอทิลีน 1 ล้านตัน/ปี โพรพิลีน 5.5 แสนตัน/ปี นอกจากนี้จะผลิตเม็ดพลาสติก HDPE, LDPE และผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นที่ต้องการตลาดในอินโดนีเซีย โดยตั้งเป้าจะสร้างโรงงานเสร็จในปี 61 ขณะที่การหาผู้ร่วมทุนรายที่ 3 จะดำเนินการหลังเซ็นสัญญาร่วมทุนกันแล้ว เพื่อจะได้ทราบว่าต้องการผู้ร่วมทุนที่จะเข้าเสริมในด้านใด
ล่าสุด วันนี้ PTTGC และ เปอร์ตามิน่า ลงนามสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทเพื่อทำตลาดและการค้าขยายตลาดโพลิเมอร์ในอินโดนีเซีย รองรับประชากรกว่า 250 ล้านคน และเพื่อปูทางสร้างฐานการตลาดสำหรับปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย โดยประมาณการว่าตลาดปิโตรเคมีในอินโดนีเซียใน 10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าการตลาดเติบโตเป็น 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันมีมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเปอตามีน่า คาดว่าจะเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 30% จากปัจจุบัน PTTGC ส่งออกไปอินโดนีเซีย 6 หมื่นตัน/ปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9 หมื่นตัน/ปี
"การร่วมมือกันวันนี้เรามองว่าตลาด AEC จะเป็นตลาดอนาคตต่อไป ...การลงทุนในอินโดนีเซียไม่ใช่เรื่อง่าย ถ้าไม่รู้ตลาด ถ้าไม่รู้โรงงานก็ไม่รู้ว่าตลาดประเทศเขาต้องการอะไร ก็ต้องพิจารณาเป็นร่วมกันทั้งโรงงานและตลาด" นายบวร กล่าว
ส่วนการร่วมมือกับปิโตรนาสของมาเลเซีย และซิโนเคมของจีน นายบวร กล่าวว่า คาดว่าความร่วมมือจะชัดเจนในปี 57 โดยในส่วนปิโตรนาส เร็วๆนี้บริษัทจะหารือความร่วมมือกันในต้นปี 57 ซึ่งเรายังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะร่วมมือผลิตผลิตภัณฑ์โพลีออล ,ผลิตภัณฑ์ฟีนอล
ด้านซิโนเคมนั้น ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเดินทางไปหารือกับจีนอีกครั้งเพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติม รวมทั้งขั้นตอนการทำตลาดในจีนก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งจะพิจารณาว่าจะมีการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย ได้แก่ โพลียูริเทน ซึ่ง PTTGC มีเทคโนโลยีของตัวเอง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC คาดว่า รายได้ในปี 56 จะสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.5 แสนล้านบาท ส่วนในปี 57 บริษัทตั้งเป้ากำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโต 10% จากปีนี้ ซึ่งบริษัทพยายามเน้นทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าโรงงานผลิตแครกเกอร์จะสามารถเดินเครื่องได้เต็ม 100% หลังจากที่โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 5 ของบมจ.ปตท(PTT) กลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ในเดือน เม.ย. 57 จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 80-90%
ขณะที่งบลงทุนช่วง 5 ปีรอบใหม่ (ปี 57-61) ยังคงงบไว้ที่ 4.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจะนำเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท