นางสาวปิยนุช มริตตนะพร รองกรรมการผู้จัดการ CKP คาดว่า กำไรสุทธิปี 57 น่าจะดีกว่าปีนี้ เนื่องจากบริษัทสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้น และมี upside จากปริมาณฝนที่มีแนวโน้มสูงเช่นเดียวกับปีนี้ ทำให้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และจะสร้างรายได้มากขึ้น รวมทั้งจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจเนอเรชั่น เฟสแรก ได้เต็มปี หลังจากเริ่มรับรู้ฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ อีกทั้งลูกค้าจะใช้ไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันใช้อยู่ 105 เมกะวัตต์
แม้ว่าในปี 57 EBITDA Margin จะปรับลดลงมาใกล้เคียงในไตรมาส 3/56 อยู่ที่ในระดับ 60% จากช่วงครึ่งแรกปี 56 ที่มีอยู่ 80% เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางปะอินฯ มีต้นทุนเชื้อเพลิงคือก๊าซ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จึงไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง
ส่วนรายได้ในปี 57 คาดว่าจะเติบโต 20% จากปีนี้ โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม กว่า 40% พลังงานน้ำ(น้ำงึม 2) กว่า 50% และโซลาร์ฟาร์ม 2-3% ขณะที่ปี 56 รายได้ส่วนใหญ่มาจากพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนร่วมกว่า 30%และ 4%จากโซลาร์ฟาร์ม
ด้านนางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมยื่นแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิต 117-120 เมกะวัตต์ จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนโครงการละ 5 พันล้านบาท โดยคาดว่าทางการจะประกาศแผน PDP 20 ปีรอบใหม่ (ปี 2557 -2577)ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 และเชื่อว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า SPP รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งตามแผนเดิมโรงไฟฟ้า SPP จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2563
บริษัทได้เตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้แล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เป็นพื้นที่อยู่ใกล้หรืออยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่ตามแนวท่อก๊าซ ซึ่งบริษัทได้เจรจาเรื่องการซื้อก๊าซจาก บมจ.ปตท (PTT) ไว้แล้ว ทั้งนี้ พื้นที่ 2 แห่งใน 8 โครงการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ซึ่งใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น เฟส 1-2 (BIC 1-2) ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุนในโรงไฟฟ้า SPP หากเป็นประโยชน์ก็พร้อมเจรจา แต่ CKP จะคงความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
นอกจากนั้น บริษัทได้เตรียมพื้นที่สำหรับสร้างโซลาร์ฟาร์มที่มีกำลังการผลิตรวมกว่า 100 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการรวมรวบพื้นที่ในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท
นางสาวสุภามาส กล่าวว่า บริษัทมองว่าโอกาสจะเข้าเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเพิ่มเติม จากนโยบายที่ทางการลาวจะเปิดให้เอกชนเข้าไปดำเนินการเพิ่มอีกประมาณ 1.3 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่พม่าก็มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ราว 1 แสนเมกะวัตต์ตามการคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) ฉะนั้นบริษัทคาดว่าจะมีโอกาสได้เข้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในสองประเทศดังกล่าว ประมาณ 1 พันเมกะวัตต์
"เราเริ่มส่งทีมศึกษาในพม่า ก็ยังมีความเสี่ยง ต้องรอความชัดเจน...ถ้าเราศึกษาแล้ว ความเสี่ยงรับได้ก็น่าจะได้ แต่ตอนนี้ยังเสี่ยงสูง เราไม่มีแรงกดดันที่จะต้องรีบหาโครงการในต่างประเทศมาเพิ่ม เพราะมีโครงการในมืออยู่ 3 โครงการ"กรรมการผู้จัดการ CKP กล่าว
สำหรับโครงการในมือ ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจเนอเรชั่น เฟส 2 กำลังการผลิต 117.5 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟ (COD) ในวันที่ 1 มิ.ย.2560 โดยเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 25 ปี อยู่ระหว่างหาผู้รับเหมา, โรงไฟฟ้าน้ำบาก ในสปป.ลาว กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ COD ในปี 2561 และฝายน้ำล้นไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ COD ในปี 2562
ดังนั้น CKP จะมีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 2,320 เมกะวัตต์ในปี 62 และวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตเท่าตัวหรือเป็นกว่า 4 พันเมกะวัตต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า