บลจ.วรรณ มอง SET ท้ายปีปรับขึ้นรับแรงซื้อ LTF/RMF แต่การเมืองยังกดดัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 23, 2013 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ มองว่า ตลาดทุนในช่วงที่เหลือของเดือนนี้ คาดว่ายังคงมีปัจจัยบวกจากเม็ดเงินไหลเข้าจากการซื้อกองทุน LTF/RMF และ Valuation ที่น่าสนใจ ซึ่งมองว่าดัชนีน่าจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ โดยประเมินกรอบดัชนี SET ในช่วงที่เหลือของเดือนที่ระดับ 1,350-1,400 จุด หลังจากได้ปรับตัวลงกว่า 5% ในเดือน พ.ย.เทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยทางการเมือง

แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยที่จะกดดันให้ตลาดปรับตัวลดลงมีอย่างจำกัด เนื่องจากราคาหุ้นได้รับรู้ข่าวไปบ้างแล้วบางส่วน ทำให้ความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นน่าจะมีจำกัด ขณะที่ผลการประชุมของเฟดได้มีมติปรับลดขนาดกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)ลงมาที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน จากเดิมที่ระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ขณะที่มุมมองตลาดหุ้นในปัจจุบัน คาดว่ายังมีโอกาสผันผวนในระยะสั้นต่อไป จากแรงกดดันทางด้านการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ขณะเดียวกันอัตราเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มีโอกาสลดลงมาที่ 16.0% เมื่อเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 17.4% โดยคาดว่าดัชนี SET Index ปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 1,400-1,650 จุด กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ขนส่ง ส่งออก อิเลคทรอนิกส์และอาหาร เป็นหลัก

ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ชะลอตัวลงโดยสะท้อนจากตัวเลข GDP ไตรมาส3/2556 อยูที่ 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าที่ระดับ 2.9% เนื่องจากตัวเลขการส่งออกยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักที่ยังช่วยให้เศรษฐกิจในปีนี้ยังทรงตัวอยู่มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจากเอเชีย เช่น จีน และญี่ปุ่น ทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวยังคงเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า

จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ซึ่งจะกระทบต่อผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามทิศทางของพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเด็นเรื่องการยกเลิกการใช้มาตรการ QE และจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศ

"สำหรับมุมมองระยะถัดไปคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงให้น้ำหนักในเรื่องการกำกับดูแลระดับหนี้ภาคครัวเรือนควบคู่กันกับการเติบโตของเศรษฐกิจและกรอบเงินเฟ้อ โดยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25% ในครึ่งปีแรกของปี 57 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มาจากด้านการบริโภคภายในประเทศ และความไม่แน่นอนทางด้านเมือง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย โดยมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 2.75%-3.00% ในครึ่งปีหลังของปี 57 เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่น่าจะเร่งสูงขึ้นและเข้าสู่ช่วงเวลาของการชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ"นายวิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ