นายสมภพ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์ใหม่เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยแต่งตั้ง นายเสกสรรค์ ธโนปจัย, นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร และนายไพบูลย์ อรุณประสบสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจะดูแลและรับผิดชอบงานทางด้านการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO) การออกตราสารทุน ตราสารหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน งานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ(IFA) รวมถึงงานต่างประเทศที่บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยัง 4 ประเทศกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชาและเวียดนาม
"ผู้บริหารทั้งสามท่านถือว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิกและก่อตั้งบริษัท APM มา รวมถึงเป็นที่รู้จักของทุกท่านเป็นอย่างดี ซึ่งจากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญ ในธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่สำคัญคือทั้ง 3 ท่านสามารถทำงานร่วมกันและสนับสนุนงานของกันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวและเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทในอนาคต"นายสมภพ กล่าว
สำหรับธุรกิจในประเทศไทยบริษัทยังคงมุ่งเน้นในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่และ SMEs โดยถือว่าเป็นการสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ผ่านโครงการ“หุ้นใหม่ความภูมิใจของจังหวัด"เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และ SMEs มีทางเลือกทางด้านแหล่งทุน ทั้งทางด้านตราสารทุนและตราสารหนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปลายปี 58
นายสมภพ กล่าวว่า บริษัทมีดีลเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ในปี 57 ราว 8-9 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอลดีซี เด็นทัล จำกัด จะยื่นไฟลิ่งไตรมาส 1/57, บริษัท สเตรกา จำกัด และ บริษัท ภัทร เฮ้าส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จะยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 2/57 และบริษัทที่เหลือคือ บริษัท เอทีพี 30 คอร์ปอเรชั่น, บริษัท สยาม อมาโก้ โฮลดิ้งส์ , บริษัท โฮมพอตเทอรี่, บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก, บริษัท เค.ซี. เมททอล ชีท และ บริษัท เจตาแบค จะทยอยยื่นไฟลิ่งในปีนี้
และในปี 58 คาดว่าจะมีดีลนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มเติมอีกกว่า 10 บริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งหน่วยงาน “APM Finance and Capital Market @Bangkok" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะรับผิดชอบการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินธุรกิจและตลาดทุน ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและตลาดทุนเพิ่มมากขึ้นและเชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมของตลาดทุนในประเทศไทย
ธุรกิจในต่างประเทศบริษัทมีเป้าหมายขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชาและเวียดนาม โดยเมื่อกลางปี 56 บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้ง บล.เอพีเอ็มลาวหรือ APM(LAO) Securities ปัจจุบันบริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้วจำนวน 2 บริษัท คือ กลุ่มบริษัท สุกสมบูน จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์และบริษัท ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว จำกัด ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศและคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว(LSX) ได้ในปลายปี 57
บล.เอพีเอ็มลาวนั้นวางแผนยขยายธุรกิจและเพิ่มทุนให้มากขึ้น ซึ่งหากมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 400 ล้านบาทแล้วจะทำให้บริษัทสามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการด้านหลักทรัพย์ได้ครบทุกประเภท ทั้งนี้ยังได้มีการเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินธุรกิจและตลาดหุ้นในแขวงต่างๆ ได้แก่ คำม่วน หลวงพระบาง สุวรรณเขต และอัตปือ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว
"บริษัทฯของเราในประเทศลาวนั้นได้มีการวางแผนที่จะเพิ่มทุนให้ขึ้นไปถึง 400 ล้านบาท ซึ่งหากทำได้ตามแผนเราก็จะได้รับ full licence ในประเทศลาวทันที หลังจากนั้นเราก็จะมีโอกาสขยายงานด้านอื่นๆในประเทศลาวมากขึ้น"นายสมภพ กล่าว
นายสมภพ กล่าวว่า ธุรกิจใน สปป.ลาวมีทิศทางที่ดีและเพื่อรองรับบทบาทที่ปรึกษาทางการเงินในสปป.ลาว ดังนั้นตั้งแต่เดือนมกราคมบริษัทจึงได้รับพนักงานเพิ่มโดยจะมีพนักงานคนลาวทั้งหมด 12 คน และพนักงานคนไทย 5 คน ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทมีแผนงานในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินธุรกิจและตลาดทุนให้กับผู้ประกอบการในแขวงต่างๆในสปป.ลาว อาทิ สุวรรณเขต คำม่วน หลวงพระบาง และอัตปือ เพื่อให้ผู้ประกอบการใน สปป.ลาวมีการตื่นตัวและมีการความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวในอนาคต
ทางด้านประเทศเมียนมาร์ บริษัทได้เข้าไปศึกษาข้อมูลและดูช่องทางในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เมื่อปี 55 และคาดว่าต้นปี 57 จะมีการจัดตั้งบริษัทให้คำแนะนำทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินกับผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นมีการเจรจากับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานและสาธารณูปโภคทางด้านน้ำ อาทิ ระบบบำบัดน้ำเสียและน้ำประปา ขณะเดียวกันในช่วงกลางปีและปลายปี 57 บริษัทจะเข้าไปศึกษาข้อมูลและช่องทางในการดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนในประเทศกัมพูชาและเวียดนามในลำดับต่อไป
"เรามีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่เข้าไปเตรียมการเกี่ยวกับการเปิดสำนักงาน เพื่อช่วงชิงโอกาสก่อนผู้อื่น ซึ่งเราก็ได้เข้าไปคุยกับ 2-3 บริษัทในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการเปิดตลาดทุนขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเราคาดว่าตลาดทุนเมียนมาร์เองก็น่าจะเปิดได้อย่างเร็วในปี 58 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการไปจัดตั้งบริษัทฯในพม่านั้นเราเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทในประเทศไทยด้วย เพราะเราจะช่วยในการเชื่อมต่อธุรกิจของไทยไปยังประเทศด้วย "นายสมภพ กล่าว
ปัจจุบันบริษัทมีการให้บริการทางด้านการเงินแบบครบวงจร อาทิ ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับประสานงานจัดหาแหล่งเงินกู้(Loan Arranger) ที่ปรึกษาทางการในการประสานงานจัดหาผู้ร่วมทุน(Joint Venture) ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการควบรวมกิจการ( Merger and Acquisition ) ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้(Debt Restructuring) และที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(FA for Listing/IPO)
นายสมภพ กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีปรับลดลงไปอย่างต่อเนื่องจากปลายปีก่อนนั้นเป็นสาเหตุมาจากภาวะทางการเมืองคอยกดดันอยู่ แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมารีบาวด์ได้หากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มสงบลง และนักลงทุนเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังมีผลประกอบการที่ดี และมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง