STEC คาดรายได้ปี57 มากกว่า 2.5 หมื่นลบ.โตกว่าปี 56, งานใหม่ 3 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 7, 2014 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 57 จะทำได้อย่างน้อย 2.5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปี 56 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่คาดว่าปีนี้จะมีอัตรากำไรขั้นต้นราว 8% เทียบกับปีก่อนที่ระดับ 9%

ณ สิ้นปี 56 บริษัทมีงานในมือ(backlog)จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท และอีก 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 58 ขณะที่บริษัทตั้งเป้าว่าในปี 57 จะมีงานใหม่เข้ามาอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาทแต่ทำได้จริง 3 หมื่นล้านบาท

นายวรพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการยุบสภาไปแล้ว แต่การก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่ดำเนินการอยู่แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยต้นปี 57 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่าโครงการประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านบาท กำหนดยื่นซองประมูลในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่ง STEC จะเข้าประมูลทั้ง 4 สัญญา

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู มูลค่าโครงการกว่า 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะออกหนังสือประกวดราคาราวไตรมาส 3/57

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เตรียมจะเปิดประมูลโครงการถไฟรางคู่ 5 เส้นทางพร้อมกันในปีนี้ คือ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, นครปฐม-หัวหิน, ชุมทางจิระ-ขอนแก่น และ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร แต่ละโครงการมีมูลค่างานประมาณ 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่าโครงการกว่า 7 หมื่นล้านบาทก็จะเปิดประมูลในปีนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในปลายปี 57 โรงไฟฟ้า SPP ที่ได้รับอนุมัติ 39 แห่งจะเริ่มทยอยก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่ง STEC คาดว่าจะได้งาน 1 ใน 3 ของงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP หรือมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

นายวรพันธ์ กล่าวว่า บริษัทจึงไม่ห่วงแม้ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทอาจจะสะดุด แต่โครงการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการอยู่แล้ว และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ใช้เงินกู้ไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณ เพียงแต่เสียดายโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำจากการรวมโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทและพลาดโอกาสที่บริษัทต่างประเทศจะสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในไทย

"ไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ โครงการขนาดใหญ่ไม่ค่อยได้อาศัยงบประมาณ แต่อาศัยเงินกู้ ก็ไม่ค่อยกระทบ" นายวรพันธ์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาทสำหรับซื้อเครื่องจักร โดยส่วนหนึ่งจะซื้อไว้ในโรงหล่อคอนกรีตแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มี 3 ไลน์การผลิตที่สามารถรองรับงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สายได้ ขณะที่โรงเดิมที่ จ.ชลบุรี มี 2 ไลน์การผลิต แต่จะย้ายการผลิตมาที่โรงงานใหม่เพื่อให้ใกล้กับสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ 50-60 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสดประมาณ 8 พันล้านบาท และไม่มีหนี้สิน

นายวรพันธ์ กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าไปรับงานในประเทศพม่า ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมที่บริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุน แต่จะไม่รับงานของภาครัฐพม่า เพราะมองว่ามีความเสี่ยง

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนจะแตกไลน์ไปเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเตรียมที่ดินเปล่าไว้ 2 แปลงใหญ่ ได้แก่ ที่ถนนบางนา-ตราด กม. 4.5 เนื้อที่ 28 ไร่ แต่จะรอให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเกิดก่อน เพราะจะผ่านที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม ส่วนอีกแปลงอยู่บนถนนพระราม 3 เนื้อที่ 10 ไร่ คาดว่าจะก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ