ทั้งนี้ ประมาณการการขายปิโตรเลียมในช่วงปี 57-61 ได้แก่ ในปี 57 มีปริมาณการขาย 337,000 บาร์เรล/วัน, ปี 58 มีปริมาณการขาย 354,000 บาร์เรล/วัน, ปี 59 มีปริมาณการขาย 344,000 บาร์เรล/วัน, ปี 60 มีปริมาณการขาย 330,000 บาร์เรล/วัน และในปี 61 มีปริมาณการขาย 321,000 บาร์เรล/วัน
สำหรับงบประมาณการลงทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 57-61 ประกอบด้วย ประมาณการรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) รวมทั้งสิ้น 27,282 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้พัฒนาโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมประมาณการเงินลงทุนที่อาจต้องใช้เพิ่มสำหรับโอกาสทางธุรกิจ
“ปตท.สผ. มีแผนที่จะขยายการลงทุนในโครงการใหม่ ทั้งการเข้าซื้อและควบรวมกิจการที่อยู่ในช่วงเริ่มการผลิตหรือในช่วงพัฒนา เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตและปริมาณสำรองได้ทันที รวมทั้ง จะต้องพัฒนาความสามารถขององค์กรในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี ด้านการพัฒนาระบบ กระบวนการทำงาน ด้านบุคลากร และด้านการจัดหาเงินทุน เพื่อให้แผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้"นายเทวินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ประมาณรายจ่ายรวมของปี 57 ที่ 5,507 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะนำไปใช้ด้านการผลิตมุ่งเน้นรักษาระดับการผลิต โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพปริมาณสำรองปิโตรเลียมสำหรับการผลิตที่ยั่งยืนในโครงการหลักๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้ โครงการบงกช โครงการเอส 1 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี และโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (แหล่งมอนทารา)
นอกจากนี้ใช้ในด้านการพัฒนา มุ่งเน้นการบริหารโครงการให้แล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิตตามแผนงานและงบประมาณ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทฯ ในอนาคตอันใกล้ จากโครงการหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย 1 และโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) จากแหล่งแคชและเมเปิ้ล (Cash-Maple field)
และด้านการสำรวจ มุ่งเน้นการบริหารจัดการการลงทุนในภาพรวมของโครงการสำรวจต่างๆ เช่น โครงการพม่า เอ็ม 3 โครงการพม่าพีเอสซีจี และอีพี 2โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซและโครงการสำรวจในประเทศออสเตรเลียโมซัมบิก และเคนย่า เป็นต้น ให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและการผลิตในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.สผ. ได้ทบทวนและปรับปรุงแผนกลยุทธ์ในระยะยาว โดยกำหนดทิศทางที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การผลิต (Big) ปริมาณสำรอง (Long) และผลตอบแทนการลงทุน (Strong) โดยได้ปรับเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตสำหรับปี 63 จาก 900,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 600,000 บาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพื่อรักษากำลังการผลิต รวมทั้งสำรวจพัฒนาเพิ่มเติมในโครงการต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอัตราส่วนของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิตให้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และสร้างผลตอบแทนเงินลงทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังรักษาระดับความน่าเชื่อถือขององค์กรให้อยู่ในระดับเดียวกับของประเทศ