สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.5 ปี) LB196A (อายุ 5.4 ปี) และ LB15DA (อายุ 1.9 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 9,702 ล้านบาท 8,117 ล้านบาท และ 5,361 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14109A (อายุ 6 วัน) CB14410A (อายุ 97 วัน) และ CB14424A (อายุ 111 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 29,118 ล้านบาท 8,098 ล้านบาท และ 7,336 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น CPALL23OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 328 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTC20NA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 153 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC21OA (A+) มูลค่าการซื้อขาย 149 ล้านบาท
ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประทศยังคงเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนในตลาดหุ้นของไทย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติ เทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ออกมาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นักลงทุนต่างชาติจะมีแรงขายในส่วนของตลาดตราสารหนี้ออกมาด้วยเช่นกัน แต่ยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศเข้ามารองรับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตราสารหนี้รุ่นอายุ 3 – 5 ปีส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น) ในช่วงประมาณ 10 – 15 Basis Point นอกจากนี้แล้วแรงคาดการณ์ที่ว่า กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวเนื่อง มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ในช่วงอายุคงเหลืออื่นๆ ปรับตัวลดลงตามไปด้วยตลอดทั้งเส้น
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 3,177 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,644 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 532 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 153 ล้านบาท