ในมุมมองของฝ่ายวิจัยคาดว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมด หรือบางส่วนในโครงการ KKD ของ PTTEP น่าจะส่งผลบวกต่อ PTTEP เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนค่าเสียโอกาสสำหรับเงินลงทุนที่จ่ายไปในการเข้าซื้อกิจการเฉลี่ยราว 12% ต่อปี (ประเมินจาก WACC) หรือราว 8 พันล้านบาท ต่อปี และโครงการ KKD ตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิตในปี 2554 เผชิญกับผลขาดทุนสุทธิมาโดยตลอด รวมสุทธิถึงปัจจุบันอยุ่ที่ 100 ล้านหรียญฯ (เฉลี่ยปีละ 33 ล้านเหรียญฯ) หากราคาน้ำมัน WTI ยังอยู่ต่ำกว่า 105 เหรียญฯต่อบาร์เรล คาดจะยังคงส่งผลให้โครงการ KKD เผชิญกับผลขาดทุนต่อเนื่องในอนาคตภายใต้ระดับการผลิตในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สามารถนำเงินที่จะต้องใส่เป็น CAPEX ระยะ 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งสูงถึง 2.9 พันล้านเหรียญฯ หรือราว 9.6 หมื่นล้านบาท ไปใช้ในการลงทุนในโครงการอื่นๆที่ให้ผลตอบที่ดีกว่าทดแทนได้
พร้อมกันนี้ได้ทำการปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2557 เป็น 33 บาทต่อเหรียญฯ จากเดิม 31.5 บาทต่อเหรียญฯ ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2557-58 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.6% จากเดิม และเพิ่มมูลค่าพื้นฐานราว 3 บาทต่อหุ้น โดยคาดการณ์แนวโน้มกำไรปี 2557 จะเติบโตสูงถึง 19.8%yoy ทั้งจากผลของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมถึงปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ Pangkha และ Natuna A ตั้งแต่งวด 1Q57 และโครงการซอติก้าในประเทศพม่า กำลังการผลิตก๊าซฯ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ตั้งแต่งวด 2Q57
วานนี้(8 ม.ค.)หุ้น PTTEP ปิดที่ 156.50 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท(+1.95%)