ปัจจุบัน พม่ามีกำลังผลิตปูนซีเมนต์รวมกันประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 6.5 ล้านตันต่อปี ทำให้มีส่วนต่างประมาณ 4.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องนำเข้าโดยประมาณ 60% จากไทย และอีก 40% จากอินเดียและเวียดนาม โดยในปี 2557 จะมีกำลังการผลิตในพม่าเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านตันทั้งจากโรงงานใหม่และการปรับปรุงโรงงานเก่า และจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านตันในปี 2558 ขณะที่อัตราการเติบโตของความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ต่อปี
นายเนียลเซ่น กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงปูนซีเมนต์ในประเทศพม่า ที่ LVT ได้เข้าไปทำโครงการดังกล่าว ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดหาและติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งแล้วเสร็จและเริ่มทดลองผลิตตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าพร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่รัฐฉาน ห่างจากเมืองตองจี (Taunggyi) เมืองหลวงของรัฐฉานประมาณ 25 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่โดยเอกชนเป็นเจ้าของที่ทันสมัยที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยโรงงานล่าสุดที่สร้างเสร็จก่อนหน้านี้เมื่อ 12 ปีที่แล้วเป็นของรัฐบาล ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น
สำหรับโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท Kanbawza Industries (KBZI) กับบริษัท GCCP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ LVT ในสัดส่วน 40:20 ส่วนที่เหลือเป็นของผู้ร่วมทุนรายย่อยประกอบด้วยบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายแห่งของพม่า สำหรับบริษัท GCCP มี LVT เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งถือหุ้นโดยบริษัทร่วมทุนของ LVT ในประเทศจีนและอินเดีย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศพม่า ที่ยังมีความต้องการปูนซีเมนต์อีกเป็นจำนวนมาก
“โรงงานปูนซีเมนต์แห่งนี้ ใช้เงินลุงทุน 2,500 ล้านบาท โดย LVT เข้าไปรับบริหารโครงการในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การก่อสร้าง การจัดและติดตั้งเครื่องจักรจนแล้วเสร็จ โดยมีกำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี ด้วยเทคโนโลยีแบบแห้งที่มีความได้เปรียบในเชิงต้นทุนเพียง 45 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถูกกว่าการผลิตปูนซีเมนต์แบบเปียกที่เป็นเทคโนโลยีเก่า ทำให้เราสามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานได้ดีมาก เนื่องจากปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในพม่ายังมีไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกปูนซีเมนต์สูงถึงตันละ 115 เหรียญสหรัฐ ดังนั้น การเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ในพม่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการลงทุนได้เป็นอย่างดี" นายแฮนส์ จอร์แกน เนียลเซ่น กล่าว
สำหรับค่าที่ปรึกษาและบริหารโครงการทั้งหมดของ LVT มูลค่าประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 500 ล้านบาท มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ30 ล้านบาท ซึ่งได้ทยอยรับรู้รายได้มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ LVT จะได้รับผลประโยชน์ในรูปเงินปันผลจากกำไรของบริษัท เนื่องจากสัดส่วนการร่วมทุนยังต่ำจึงไม่สามารถรับรู้รายได้โดยตรง ผลประโยชน์ทางตรงอีกด้านหนึ่งคือสัญญาบริหารจัดการต่อเนื่องอีก 5 ปี โดย LVT จะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 1 เหรียญสหรัฐต่อทุก 1 ตันของผลผลิต