ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน STA ที่ A- แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 14, 2014 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว งบดุลที่แข็งแกร่ง และผลงานของผู้บริหารที่เป็นที่ยอมรับ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและแนวโน้มความต้องการยางธรรมชาติที่อ่อนตัวลงจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ โดยงบดุลและโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งจะทำให้บริษัทสามารถเผชิญกับความผันผวนในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกได้

บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีเป็นหนึ่งในผู้นำในการแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก โดยมีโรงงานแปรรูป 21 แห่งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและอีก 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,230,258 ตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลก

สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อยู่ที่ 9.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8.9% ในช่วงเดียวกันของปี 2555 บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอุตสาหกรรมยาง อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานรวมทั้งการมีข้อมูลข่าวสารที่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจยางธรรมชาติจึงทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารกิจการของบริษัทจนผ่านวงจรธุรกิจทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงมาได้หลายครั้งโดยที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมียอดจำหน่ายยางแปรรูปทั้งสิ้น 811,277 ตัน เพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 80% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเพียงประเภทเดียว แต่บริษัทก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 85% ของปริมาณขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยมีลูกค้าหลักคือประเทศจีนซึ่งคิดเป็น 48% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 40% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 70% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 5.23 ล้านตันในช่วง 6 เดือนแรกปี 2556 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 1.69 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (1.59 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.39 ล้านตัน)

ส่วนในด้านของการบริโภคนั้น ความต้องการยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจาก 7.56 ล้านตันในปี 2545 มาอยู่ที่ 11.04 ล้านตันในปี 2555 โดยประเทศจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดคิดเป็น 35% ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2556 จะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.49 ล้านตันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 โดยเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณความต้องการยางล้อของผู้ผลิตยางล้อในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ การยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกายังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ปริมาณการส่งออกของจีนไปยังประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย

อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 96%-98% ของต้นทุนการผลิตยางแปรรูป ผู้ประกอบการจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติเป็นอย่างมากซึ่งส่งผลทำให้กำไรและกระแสเงินสดมีแนวโน้มแปรปรวน ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาระดับกำไรให้คงที่ บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณขายและการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดเพื่อชดเชยกับอัตรากำไรที่ลดลงในช่วงที่สภาพตลาดยากลำบาก นอกจากนี้ บริษัทยังได้พยายามซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเพื่อให้สามารถประเมินแนวโน้มอุปสงค์และอุปทานในตลาดได้ กระนั้นก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนในระดับสูงไปได้ดังปรากฏในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 จนถึงครึ่งแรกของปี 2556

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2556 ดีกว่าในปี 2555 โดยปริมาณขายเพิ่มขึ้น 12.41% จาก 721,730 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 มาอยู่ที่ 811,277 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อัตรากำไรขั้นต้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 5.5% จากที่ระดับ 3.5% ในช่วงเดียวกันของปี 2555 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.27% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จากที่ระดับ 0.26% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าหนี้เงินกู้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 15,858 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จากเดิมที่ 14,853 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 บริษัทยังคงมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรงที่ระดับ 44.76% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ