ทริส คงอันดังเครดิตองค์กรของ VNT ที่ระดับ A- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday January 18, 2014 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. วีนิไทย" ที่ “A-/Stable"

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. วีนิไทย (VNT) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง คณะผู้บริหารที่มีความสามารถ และการสนับสนุนที่ได้รับจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ Solvay S.A. (Solvay) แห่งประเทศเบลเยี่ยม และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนส่วนต่างราคา (Spread) ที่แคบลงของสินค้า และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการลงทุนโรงงานผลิตอีพิคลอโรไฮดริน (Epichlorohydrine -- ECH) ของบริษัทในประเทศจีนด้วย

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปได้และไม่มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพีวีซี ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไป

บริษัทวีนิไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายโพลีไวนิล คลอไรด์ (Polyvinyl Chloride -- PVC) จำนวน 2 รายในประเทศไทย บริษัทได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากผู้ถือหุ้นหลักอย่างเต็มที่จาก Solvay และ PTTGC โดย Solvay ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ PTTGC เป็นผู้จัดหาเอธิลีน (Ethylene) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิต PVC บริษัทมีโรงงานผลิต PVC ที่มีกระบวนการผลิตครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง

ณ เดือนกันยายน 2556 บริษัทมีกำลังการผลิต PVC ที่ระดับ 280,000 เมตริกตันต่อปี โซดาไฟที่ระดับ 366,000 เมตริกตันต่อปี ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer -- VCM) ที่ระดับ 400,000 เมตริกตันต่อปี และ ECH ที่ระดับ 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยโซดาไฟและ VCM ที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการผลิต ECH และ PVC ของบริษัท

หลังจากประสบความสำเร็จในการก่อสร้างโรงงาน ECH ในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 บริษัทก็ได้วางแผนขยายการผลิต ECH ไปยังประเทศจีนโดยได้ซื้อกิจการของ Solvay Biochemical Taixing (SBT) เอาไว้ ซึ่ง SBT จะเป็นผู้ก่อสร้างโรงงานผลิต ECH ในประเทศจีนด้วยกำลังการผลิต 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยโครงการมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 7,200 ล้านบาท ซึ่ง 67% ของเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ยืม ในเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าโรงงานจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557

อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 การดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเริ่มชะลอตัวเนื่องจากราคาของ ECH ปรับลดลงอย่างมากจากปัญหาปริมาณสินค้าล้นตลาดในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้วันเริ่มผลิตอาจล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนด และยังไม่มีการกล่าวถึงวันเปิดดำเนินการที่แน่ชัด

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมียอดจำหน่าย PVC ที่ 191,000 เมตริกตัน โซดาไฟ 181,000 เมตริกตัน VCM 83,000 เมตริกตัน และ ECH 55,000 เมตริกตัน ยอดจำหน่ายโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มอัตราการผลิตของโรงงาน ECH ในประเทศไทย ปริมาณการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2555 โดยเฉลี่ยแล้วคิดเป็น 80% ของยอดจำหน่ายของบริษัททั้งหมด แต่สัดส่วนการจำหน่ายภายในประเทศลดลงเหลือ 73.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยสัดส่วนการส่งออกที่มากขึ้นดังกล่าวเนื่องมาจากยอดจำหน่ายของ ECH ที่ส่งออกถึง 70%

ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหากโรงงาน ECH ในประเทศจีนเริ่มเปิดดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

ฐานะการเงินของบริษัทยังคงเข้มแข็งซึ่งได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและภาระหนี้สินที่ต่ำ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 นั้นรายได้จากการขายของบริษัทสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาดการณ์ บริษัทมีรายได้ 12,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงเหลือ 9.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เมื่อเทียบกับ 19.9% ในช่วงเดียวกันของปี 2555 อัตรากำไรที่ลดลงเกิดจากส่วนต่างราคาที่แคบลงของ PVC และ ECH รวมทั้งการลดลงของราคาโซดาไฟ โดยราคาของเอทีลีนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ย 1,230 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2555 เป็น 1,323 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ในขณะที่ราคาเฉลี่ยของ PVC เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า โดยราคาเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2555 ที่ 962 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเป็น 1,005 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ส่วนราคาของโซดาไฟนั้นอยู่ที่ 396 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งลดลงประมาณ 18% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของปี 2555 ทั้งปี ส่งผลให้ส่วนต่างราคาเต็ม (Full spread) โดยเฉลี่ยของ PVC ลดลงเหลือ 681 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2556 คิดเป็นอัตราที่ลดลง 9.6% จากค่าเฉลี่ยของส่วนต่างราคาในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ต้นทุนของเอทิลีนคิดเป็น 40% ของต้นทุนขายทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 นอกจากนี้ ธุรกิจ ECH ของบริษัทยังมีผลขาดทุนเนื่องจากราคา ECH ที่ลดลงจากสถานการณ์สินค้าล้นตลาดในประเทศจีน โดยราคาขายของ ECH ลดลงจาก 2,050 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนมกราคม 2554 เหลือ 1,563 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนกันยายน 2556

อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดย ณ เดือนกันยายน 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 20.6% บริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 4,179 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงาน ECH ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เงินทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 1,232 ล้านบาท และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 1,340 ล้านบาท ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจาก 2,546 ล้านบาทและ 2,606 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2555 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้เนื่องจากบริษัทมีการสำรองเงินสดในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 39.8% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยข้อมูล 12 เดือนย้อนหลังจนถึงเดือนกันยายน 2556) และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 11.6 เท่า  ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ตามประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าการก่อสร้างโรงงาน ECH ในประเทศจีนจะล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปี อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างราคาเต็มของ PVC ราคาเอทิลีนคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยทาง Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะค่อย ๆ อ่อนตัวลงในปี 2557 และปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสอดคล้องกับราคาของเอทิลีนอย่างมีนัยสำคัญ การค้นพบน้ำมันชั้นหินดินดานในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในด้านต้นทุนของผู้ผลิตเอทิลีนในประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิตเอทิลีนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบให้ราคาเอทิลีนทั่วโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ประเด็นกังวลสำคัญเป็นเรื่องของราคา ECH ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากราคายังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไปก็อาจมีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหากมีการลงทุนในโครงการ ECH ในประเทศจีน ซึ่งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนน่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่น่าจะเกิน 30% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ