สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.4 ปี) LB196A (อายุ 5.4 ปี) และ LB155A (อายุ 1.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 18,080 ล้านบาท 15,895 ล้านบาท และ 10,532 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14417B (อายุ 91 วัน) CB14204A (อายุ 14 วัน) และ CB14128A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 29,731 ล้านบาท 25,800 ล้านบาท และ 14,761 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) รุ่น AYCAL177A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 323 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น CPALL23OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 206 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) รุ่น BANPU214A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 196 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น ในช่วงประมาณ -1 ถึง -6 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ของตลาดว่าอาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 Day) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 22 ม.ค. 57 นี้ ภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ และอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาถัดไป มุมมองเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลงนี้มีผลทำให้เกิดแรงซื้อเข้ามาในตราสารหนี้เกือบทุกช่วงอายุ นอกจากนี้แล้วผลการประมูลพันธบัตร ธปท. รุ่นอายุ 3 ปี ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก โดยมีค่า Bid Coverage Ratio (BCR) สูงถึง 3.07 เท่าของวงเงินประมูล และมีผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูลที่ค่อนข้างต่ำ (ราคาสูง) ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น) อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 28 – 29 มกราคมนี้ ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจและต้องติดตามต่อไป เนื่องจากอาจมีการพิจารณาเกี่ยวกับขนาดของมาตรการ QE ภายหลังที่รายงานการประชุม FOMC ในครั้งที่ผ่านมา ระบุว่ามีผู้ว่าการ Fed หลายสาขาเห็นด้วยที่จะให้มีการลดขนาดรวมถึงยกเลิกมาตรการ QE ในปีนี้
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 22 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,643 ล้านบาท และ ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 5,664 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 200 ล้านบาท